ในประเทศ

สสส.สานพลัง สนง.เลขาสภาฯเตือนภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

นื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม สสส.สานพลัง สนง.เลขาสภาฯเตือนภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษเสพติดอันตรายต่อสุขภาพเสี่ยงเป็นมะเร็งหลายชนิด พร้อมหนุนองค์การอนามัยโลกมุ่งเป้าปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมอบรม “บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติดอันตรายต่อสุขภาพ” ให้กับข้าราชการสำนักงานเลขาสภาผู้แทนราษฎรและสื่อมวลชน ณ ห้องประชุม 601 อาคารรัฐสภา โดยมี ว่าที่เรือตรี ยุทธนา สำเภาเงินที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานฯ มี รศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช อาจารย์ภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลบรรยายเรื่อง “บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษเสพติดอันตรายต่อสุขภาพ” พร้อมเปิดเวทีเสวนาสะท้อนปัญหาภัยคุกคามจากบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา โดยตัวแทนเยาวชนจากโรงเรียน ราฟาแอล ปากน้ำรวมทั้งจัดเวทีการแบ่งปันประสบการณ์ “เปิดใจนักสูบ” ที่เคยสูบบุหรี่และเลิกสูบได้ นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมกลุ่ม Bingo ให้ความรู้พิษภัยของควันบุหรี่ ทดลอง หุ่นจำลองพิษของควันต่อปอด และทดลอง สวมรองเท้านวดช่วยลดความอยากสูบบุหรี่ โดยรศ.ธราดล เก่งการพานิช และ ดร.ภาสกร สวนเรือง อาจารย์ภาควิชาสุขศึกษา และพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ว่าที่เรือตรี ยุทธนา สำเภาเงินที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าเป็นที่ทราบกันดีว่า บุหรี่และควันบุหรี่ส่งผลร้ายก่อให้เกิดโรคต่างๆมากมาย จากรายงานผลงานวิจัยพบว่า การสูบบุหรี่จะทำให้ได้รับสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติด และได้รับสารพิษก่อมะเร็ง ยิ่งสูบในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน ย่อมเพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าที่มีรายงานวิจัยพบว่าอันตรายต่อระบบต่างๆของร่างกายชัดเจนโดยสรุปการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีผลร้ายทั้งต่อสุขภาพตนเองและมีผลกระทบต่อสังคมซึ่งหากพวกเราทุกคนช่วยกันรณรงค์ไม่ให้มีการสูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยให้พวกเราไม่ตกเป็นเหยื่อควันบุหรี่มือสองและมีสุขภาพที่ดี สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช อาจารย์ภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์  คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของวัยรุ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นโจทย์ที่พวกเราจะช่วยกันปกป้องเด็กเยาวชนของไทยอย่างไร จากข้อมูลการสำรวจการใช้ยาสูบในเยาวชน ในช่วงปี พ.ศ.2558-2562 พบการสูบบุหรี่ไฟฟ้าระหว่างร้อยละ 3.3-3.7 เท่านั้น แต่ปี 2564 และ 2566 เพิ่มเป็นร้อยละ 8.1 และ 17.6 เพียง 3-4 ปีมานี้มีการเพิ่มขึ้นหลายเท่า ทั้งที่ประเทศไทยเรามีกฎหมายห้ามจำหน่ายและห้ามนำเข้า แต่เราก็พบว่าเด็กวัยรุ่นมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเกือบร้อยละ 70 ของเด็กที่ลองสูบและสูบบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนใหญ่สั่งซื้อทางออนไลน์ และรูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้าเปลี่ยนโฉมจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นมวนเหมือนบุหรี่ เป็นพอต รูปการ์ตูน กล่องนม ปากกา แฟลชไดร์ฟ์มีกลิ่นหลากหลาย ทำให้วัยรุ่นอยากรู้อยากลอง ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันบ่งชี้ถึงภัยคุกคามเด็กเยาวชนไทยรวมถึงระดับโลกด้วย ดังนั้นคำขวัญวันงดบุหรี่โลกปี 2567 ขององค์การอนามัยโลกจึงมุ่งเป้าไปที่ “ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งภาคีเครือข่ายป้องกันและควบคุมยาสูบในประเทศไทยพยายามอย่างยิ่งที่ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง