การศึกษา-วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี

กสศ. เปิดสถานการณ์ COVID Slide หวั่นกระทบพัฒนาการเรียนรู้และสุขภาวะเด็กไทยในระยะยาว

กสศ. เปิดสถานการณ์ COVID Slide พบนักเรียนในสหรัฐต้องอยู่บ้านนาน ส่งผลความรู้วิชาคณิตหายไปถึง 50%การอ่านลดลง 30% นักวิชาการหวั่นกระทบพัฒนาการเรียนรู้และสุขภาวะเด็กไทยในระยะยาว แนะรับมือ 3 เดือนสุดท้ายปีการศึกษา 63 ประเมินนักเรียนเป็นรายคน เพื่อเสริมเด็กพัฒนาการเรียนรู้ถดถอย เฝ้าระวังเด็กตกหล่นอุดระหว่างช่วงชั้นปี พร้อมเปิดตัว “Black Box สื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองในศตวรรษที่ 21” ช่วยเด็กไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต นำร่องส่งมอบเด็กประถมปลายยากจนพิเศษใน 5จังหวัดสีแดงเข้ม ขณะที่ ‘เคอรี่ เอ็กซ์เพรส -MK-เนสท์เล่’ จับมือกสศ.ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบ

เมื่อวันที่18 ม.ค.ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีการจัดงานแถลงข่าว COVID Slide ผลกระทบการเรียนรู้ของเด็กไทย กับแนวทางการจัดการ ‘ปิดโรงเรียน แต่ไม่ปิดกั้นการเรียนรู้’ โดย ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวถึงผลการศึกษาปรากฎการณ์ COVID Slide ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้หลายโรงเรียนต้องปิดลงในหลายประเทศ เรียกว่า “Summer Slide” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน และจากสถานการณ์ระบาดที่ต่อเนื่องยาวนานจึงเกิดปรากฏการณ์ COVID Slide ที่นักเรียนต้องออกจากโรงเรียนเป็นระยะเวลายาวนานทำให้สภาวะการเรียนรู้ถดถอย งานวิจัยจากสถาบัน NWEA พบว่า นักเรียนในสหรัฐอเมริกาที่ต้องอยู่บ้านเป็นเวลานานทำให้ความรู้วิชาคณิตศาสตร์หายไปถึง 50% และความรู้ด้านการอ่านลดลง 30% แม้แต่ในกลุ่มนักเรียนเศรษฐานะดี การอยู่หน้าจอเป็นเวลานานส่งผลต่อสุขภาพจิต พัฒนาการด้านสังคม อารมณ์ สอดคล้องกับงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการด้านระบบการสอนของสถาบัน MIT  พบว่าการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีทางการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถชดเชยผลกระทบที่ไม่ได้มาโรงเรียน เช่น ความรู้ที่ถดถอย ขาดประสบการณ์เข้าสังคม การได้รับอาหารที่มีโภชนาการ บริการทางสังคมต่างๆ หรือการเรียนที่เหมาะสมกับช่วงวัย

ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีผลการศึกษาติดตามผลกระทบจาก COVID Slide ออกมา แต่จากแนวโน้มที่มีผลการศึกษาในระดับนานาชาติข้างต้นก็พอจะคาดการณ์ได้ถึงผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ1) ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษา 2) ภาวะถดถอยของพัฒนาการด้านการเรียนรู้และสุขภาวะของเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษา โดยเฉพาะกับเด็กยากจนด้อยโอกาส เด็กในพื้นที่ห่างไกล เด็กพิการ เด็กที่ต้องการการศึกษาแบบพิเศษ ซึ่งจะขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเมืองและชนบทจะยิ่งกว้างขึ้นมากกว่า 2 ปีการศึกษา ในระยะยาวอาจส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทำให้วงจรความยากจนข้ามชั่วคนยังคงเกิดขึ้นไปสู่คนรุ่นต่อไป

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  กล่าวว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยก่อน COVID-19 พบว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนที่สุด 3 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้น จากสัดส่วนน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ลดลง อัตราขาดเรียนลดลง ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม โดยเฉพาะครูที่ร่วมกันค้นหาตัวเด็กพร้อมกับมีระบบสารสนเทศช่วยสนับสนุนการคัดกรอง อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งต้องปิดลง ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่1 และ2 คิดเป็น40% ของปีการศึกษาที่นักเรียนต้องเรียนจากบ้าน โดยพบว่ามีเด็กยากจนยากจนพิเศษในพื้นที่การระบาดสีแดงและสีแดงเข้มใน 28 จังหวัด มีจำนวน143,507 ราย ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งต้องออกไปทำงานหารายได้ บางแห่งมีข้อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี แม้ว่าต้นเดือนมกราคม กสศ.จะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ตชด. อปท. ดำเนินโครงการเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาค เพื่อป้องกันนักเรียนยากจนพิเศษ 900,000 คน ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา

“สิ่งน่ากังวลคือความเสี่ยงเด็กจะมีพัฒนาการเรียนรู้และสุขภาวะถดถอย จึงต้องใช้ 3 เดือนสุดท้ายของปีการศึกษาหาเด็กเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID Slide ให้พบ มาตรการที่ควรตั้งรับคือ 1) เมื่อเปิดการสอนในวันที่ 1 ก.พ. ครูควรตรวจพัฒนาการของร่างกายและการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคลว่าถดถอยลงหรือไม่ 2) การจัดการสอนเสริม หรือ After school programme สำหรับผู้เรียนที่มีพัฒนาการเรียนรู้ถอดถอยก่อนการเลื่อนชั้น 3) การเฝ้าระวังรอยต่อการศึกษาในทุกช่วงชั้น ตั้งแต่ ป.1 ม.1 ม.4/ปวช. โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชนยากจนในพื้นที่ไม่มีโรงเรียนรองรับ วิกฤตนี้สามารถพลิกเป็นโอกาสปฏิรูประบบการศึกษา จากเดิมที่เด็กต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปหาการศึกษา เปลี่ยนเป็นการศึกษาไปหาเด็กทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคและยั่งยืน ซึ่ง กสศ. มีข้อมูลเด็กรายคนพร้อมตำแหน่งรายละเอียดสภาพแวดล้อมบันทึกในระบบสารสนเทศ iSEE โดยความร่วมมือจากโรงเรียนเพื่อร่วมกันเฝ้าระวังติดตาม สนับสนุนทุนการศึกษา ส่วนเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ได้มีกลไกระดับจังหวัด และ61องค์กรภาคีเครือข่ายในการทำงานเพื่อเข้าถึงเด็กเยาวชนเรื่องปากท้อง เตรียมความพร้อมเพื่อกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นหรือการฝึกอาชีพ” ดร.ไกรยส กล่าว

ศ.ดร.สมพงศ์   จิตระดับ  ที่ปรึกษา กสศ. กล่าวว่า  มีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประมาณ3,000-5,000 คน ในกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่อาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กนักเรียนชั้นมัธยมต้น ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เข้ามาเยียวยาวิกฤตจะทำให้ระบบการเรียนรู้มีการบูรณาการ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากพ่อแม่ โรงเรียน ชุมชนที่จะนำไปสู่การเรียนรู้เชิงปฏิบัติ

สำหรับนวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กเยาวชนในระบบการศึกษาที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการเรียนรู้ รศ.ดร. ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี  กล่าวว่า กสศ.ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี พัฒนา Black Box สื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดำเนินต่อไปได้ในช่วงเวลาที่โรงเรียนบางแห่งต้องปิดลงชั่วคราว ชุดการเรียนรู้ในกล่องดำออกแบบเป็นบทเรียน ‘ออฟไลน์’ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก จุดเด่นของกล่องดำจึงอยู่ที่บทเรียนที่เด็กสามารถเลือกเวลาเรียนเองได้ เลือกเรียนตามความสนใจโดยไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับ โดยชุดบทเรียนได้บูรณาการจากหมวดวิชาต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับชีวิต เชื่อมโยงความสนใจจากเรื่องราวรอบตัว ตั้งแต่ตัวเอง ครอบครัว ไปจนถึงพื้นที่ชุมชนที่อาศัย ภายใต้ 4 หมวดวิชาที่ครอบคลุมพื้นฐานการเรียนรู้สำคัญ ได้แก่ นวัตกรรมและเทคโนโลยี สังคมและมนุษยชน วิทยาการวิจัย และสัมมาชีพศึกษา

นางอรอุมา  แจ่มเจ็ดริ้ว  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอ้อมโรงหีบ จ.สมุทรสาคร  กล่าวว่า จากที่ครูในโรงเรียนทำการสำรวจผู้ปกครองถึงแนวทางการเรียนรู้ของบุตรหลาน พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่สะดวกให้ครูนำการเรียนรู้ผ่านใบงานมากที่สุด ผู้ปกครองหลายคนไม่สะดวกที่จะให้บุตรหลานเรียนผ่านออนไลน์ เพราะไม่ชำนาญเรื่องการใช้ระบบ ขาดแคลนอุปกรณ์ มีบุตรหลายคนไม่สามารถเรียนพร้อมกันได้ ข้อจำกัดของโรงเรียนในเวลานี้คือสื่อการเรียนรู้ที่โรงเรียนต้องการมากที่สุด เพราะโรงเรียนต้องปรับการสอนและใช้ทรัพยากรมากในเรื่องของการพิมพ์เอกสารใบงานประกอบการเรียน เนื่องจากหลายครอบครัวไม่สะดวกและไม่พร้อมที่จะใช้เทคโนโลยี

ทั้งนี้ในงานแถลงข่าวได้มีการส่งมอบกล่องการเรียนรู้ หรือ Black Box สื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่21 ให้กับเด็กเยาวชนในระบบการศึกษาที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการเรียนรู้ ในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี อยุธยา เพชรบุรี และกาญจนบุรี และถุงยังชีพ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม” จำนวน 15,000 ถุง ประกอบด้วย อุปกรณ์ที่จำเป็นในการใช้ชีวิตและอุปกรณ์ป้องกันในสถานการณ์โควิดในระยะเวลา 15 วัน เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช ปลากระป๋อง แอลกอฮอล์ หน้ากากผ้า สำหรับเด็กเยาวชนขาดโอกาสที่อยู่นอกระบบการศึกษา 28 จังหวัดโดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษา กสศ. ทำการส่งมอบ Black Box สื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21ให้กับทางเคอรี่ เอ็กซ์เพรส เพื่อนำส่งให้ถึงมือเด็กเยาวชนที่ได้รับผลกระทบทางการศึกษา โดยมี คุณสีตลา ชาญวิเศษ Head of Marketing communication Kerry Express  เป็นตัวแทนรับมอบ ขณะที่บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุน “Memberry (เมมเบอร์รี่)” ผลิตภัณฑ์นมผสมสารสกัดจากเบอร์รี่ จำนวน 75,000 กล่อง และบริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด สนับสนุนผลิตภัณฑ์อาหารเช้าซีเรียล koko krunch duo จำนวน 400 ลัง