ในประเทศ

ทุกภาคส่วนผนึกกำลัง รายงานผล 1 ปีคืบหน้า ESG Symposium เร่งเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ปรับตัวกู้วิกฤตโลกเดือด เพิ่มโอกาส SMEs

ครบ 1 ปีทุกภาคส่วน รัฐ-เอกชน-ประชาสังคม รวมพลัง “ร่วม-เร่ง-เปลี่ยน ไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” เกิดความคืบหน้าชัด ทุกฝ่ายขานรับ ปรับวิธีคิด “ทำงานแบบบูรณาการ” ยึดเป้าหมายเดียวกัน สื่อสารตรงไปตรงมา และลุยหน้างานจริง ช่วยปลดล็อค เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทยให้เกิดขึ้นจริง  ส่งเสริมการก่อสร้างสีเขียวด้วยปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ  เอกชนจับมือจัดการแพคเกจจิ้งใช้แล้วผ่านโครงการรีไซเคิลแบบ Closed-Loop  สนับสนุน SMEs เพิ่มโอกาสเข้าถึงความรู้เปลี่ยนธุรกิจสู่คาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการ Go Together  ปีนี้ทุกภาคส่วนกว่า 3,500 คนรวมพลัง เร่งเปลี่ยนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำต่อเนื่องใน ESG Symposium 2024 วันที่ 30 กันยายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ที่ร่วมกันทำภารกิจที่ท้าทายของประเทศตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นั่นคือการเร่งเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเริ่มต้นจากการระดมสมองผู้เกี่ยวข้องกว่า 500 คน ในงาน ESG Symposium 2023 ออกมาเป็นข้อเสนอ 4 แนวทางในการกู้วิกฤติโลกเดือด ซึ่งมีความคืบหน้าที่สำคัญ อาทิ ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศให้เป็นปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์  ส่งเสริมเกษตรกรมีอาชีพ-รายได้เพิ่มด้วยการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน  สนับสนุนการทำนาเปียกสลับแห้ง ลดใช้น้ำ ใช้ปุ๋ย และลดคาร์บอน  ผลักดันการจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการขยายผล “ตาลเดี่ยวโมเดล” รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะ ถังขยะเปียกลดโลกร้อน  เสริมแกร่งเครือข่ายป่าชุมชน 38 แห่ง แลกเปลี่ยนความรู้ สร้างเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตชุมชน ต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  ติดตั้งSolar Carport ที่ศูนย์ราชการ จ.สระบุรี ซึ่งจะขยายผลสู่หน่วยงานอื่นต่อไป  ส่งเสริมความรู้ SMEs เปลี่ยนธุรกิจสู่คาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการ Go Together โดยรุ่นแรกมีผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน จากทั้งหมด 20 รุ่นทั่วประเทศ ตามแผนปี 2567-2568 ตั้งเป้าส่งต่อความรู้สู้โลกเดือดให้ SMEs 1,200 คน  ขณะที่โครงการเครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลก ซึ่งเป็นการจับมือระหว่างโฮมโปรและเอสซีจีซี เป็นตัวอย่างการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่ามารีไซเคิลแบบ Closed-Loop  สำหรับบางโครงการแม้ยังมีข้อติดขัด แต่ก็มุ่งมั่นเดินหน้าต่อ ร่วมกันปลดล็อคให้การทำงานติดสปีดเร็วขึ้น อาทิ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) รองรับการเปิดเสรี ซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด หรือการสนับสนุน SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน (Green Finance) ทั้งภายในและนอกประเทศ เพื่อเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ความคืบหน้าข้างต้นเกิดขึ้นได้จากการปรับวิธีคิด เน้นทำงานแบบบูรณาการ (Open Collaboration) มี 3 หัวใจหลัก 1) เป้าหมายร่วมกัน (Same Goal) คือเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำตาม NDC Roadmap (แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ)  2) แบ่งปันสื่อสาร (Open Communication) พูดคุยอย่างสร้างสรรค์ ตรงไปตรงมา เพื่อปลดล็อคข้อจำกัดต่าง ๆ ที่พบระหว่างการทำงาน  3) ลงหน้างานจริง (Hands-on) ให้เข้าใจสถานการณ์ ข้อจำกัด และความต้องการของอีกฝ่าย แล้วนำมาปรับวิธีทำงานให้ตอบโจทย์เป้าหมายร่วมกันได้ดีที่สุด ช่วยให้งานมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น  หลังจากนี้ทุกภาคส่วนยังคงเดินหน้าเร่งขับเคลื่อนทุกโครงการ เพื่อให้สังคมคาร์บอนต่ำเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย”

นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า “การเปลี่ยนจังหวัดสระบุรี เมืองอุตสาหกรรมของประเทศให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เป็นเรื่องท้าทายมาก แต่เราก็ทำได้ด้วยโมเดล PPP หรือ Public-Private Partnership ที่ทุกภาคส่วนเห็นเป้าหมายเดียวกัน และพร้อมขับเคลื่อนไปด้วยกัน เห็นชัดจากการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จัดการวัสดุเหลือใช้ทั่วทั้งจังหวัด อาทิ โครงการธนาคารขยะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนชุมชนคัดแยกขยะครัวเรือนตั้งแต่ต้นทาง ปัจจุบันดำเนินการครบทั้ง 108 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกิดเป็นกองทุนธนาคารขยะ 123 กองทุน ขณะเดียวกันช่วยลดภาระงบประมาณการจัดเก็บและขนย้ายขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกด้วย  โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) จำนวน 3,495 ตัน CO2 เทียบเท่า สร้างรายได้ให้ชุมชนเกือบ 1 ล้านบาท  ขณะที่การส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ เพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้ปลดล็อคด้วยการให้ความรู้แก่เกษตรกร เป็นตัวกลางเชื่อมให้ภาคอุตสาหกรรมมารับซื้อ สร้างความมั่นใจในด้านรายได้ให้เกษตรกร ปัจจุบันปลูกแล้วกว่า 100 ไร่ ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี คาดว่าสามารถแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนได้ 2,100 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกร 2.5 ล้านบาทต่อปี และยังลดการปล่อยคาร์บอนได้ 2,500 ตัน CO2 เทียบเท่า”

นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า “ฐานกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ของประเทศกว่าร้อยละ 80 อยู่ที่สระบุรี ที่นี่จึงเป็นเสมือนบ้านของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เราจึงอยากพัฒนาบ้านของเราให้ดีขึ้น โดยร่วมกับทุกภาคส่วนเร่งเปลี่ยนสระบุรีให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เริ่มจากพัฒนาปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิค : Hydraulic Cement) ที่ลดการปล่อยคาร์บอนจากการผลิต และสนับสนุนให้ใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ สูงถึงกว่าร้อยละ 80 ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 1,169,673 ตัน CO2 (ข้อมูลสะสม มกราคม 2565 ถึงมีนาคม 2567) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานตามเป้าหมายของ จ.สระบุรี โดยไทยตั้งเป้าเป็นประเทศแรกในเอเชียที่จะไม่มีปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ภายในปี 2568 อีกทั้งมีแผนการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำประเภทใหม่ ๆ ที่ลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตได้มากขึ้น สำหรับแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย Princeton ซึ่งมีความชำนาญและเครื่องมือในการจัดทำแผน Energy Transition ของสหรัฐอเมริกา โดยร่วมกันประเมินเส้นฐาน (Baseline) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน และกำหนด Energy Roadmap ของ จ.สระบุรี รวมถึงประเมินแนวทางการใช้พื้นที่ของจังหวัดฯ​ ทำเป็น Solar PV พลังงานสะอาด เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายดำเนินงาน นอกจากนั้นควรเร่งพัฒนา Green Infrastructure รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของประเทศ โดยศึกษากระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานของจีน ที่มีการแบ่งลำดับขั้นตามความพร้อมของแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงตัวอย่างของไต้หวันที่มีโครงสร้างไฟฟ้าแบบการประมูลรายวัน ปัจจุบันเรามีความร่วมมือกับทั้ง 2 ประเทศในการพัฒนา Grid Modernization ในสระบุรีแซนด์บ็อกซ์”

นายวีรพันธ์ อังสุมาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โฮมโปรในฐานะผู้นำเรื่องบ้าน เล็งเห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการเปลี่ยนสินค้าในบ้าน แต่ไม่รู้วิธีจัดการสินค้าใช้แล้วที่ถูกต้อง จึงริเริ่มโครงการ Closed-Loop Circular Products ซึ่งเป็นการนำสินค้าที่ใช้งานแล้วจากลูกค้าโฮมโปร มาจัดการอย่างถูกวิธี โดยคัดแยกชิ้นส่วนที่สามารถนำไปรีไซเคิลใหม่ และได้ความร่วมมือจากพันธมิตรหัวใจสีเขียวอย่างเอสซีจีซี ที่มีเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเหมือนกัน ช่วยพัฒนาสูตรพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงที่เรียกว่า Green Polymer เพื่อนำกลับมาผลิตอีกครั้งเป็นสินค้ารักษ์โลกให้กับลูกค้าโฮมโปร ปัจจุบันโฮมโปรมี Circular Products ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น พัดลม ไปจนถึงกระเบื้อง กล่องอเนกประสงค์ ถุงช้อปปิ้ง และอื่น ๆ ซึ่งการส่งเสริมให้เกิด Circular Products ด้วยระบบ Closed-Loop ถือเป็นภารกิจที่ตอบเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 ของโฮมโปรได้อย่างเป็นรูปธรรม”

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า “ความท้าทายของผู้ประกอบการรายย่อยไทยต่อจากนี้คือ การปรับธุรกิจให้เข้ากับกฎเกณฑ์ใหม่ที่เกิดจากประเด็นความห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป อาทิ Thailand Taxonomy มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย หรือ CBAM มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นเสมือนกำแพงทางการค้า  ธุรกิจที่ปรับตัวได้ก่อน จะก้าวข้ามข้อจำกัดดังกล่าวและพาธุรกิจอยู่รอดได้เร็ว ดังนั้นสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจึงสนับสนุน SMEs ให้เข้าถึงความรู้ มาตรฐานใหม่ ๆ เทคโนโลยีกระบวนการผลิตเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม แหล่งเงินทุนสีเขียวทั้งในและนอกประเทศสำหรับใช้ในการปรับธุรกิจ เน้นสร้างกลไกเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ เพิ่มโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากมาตรการต่าง ๆ ทั้งการเงิน ส่งเสริมความรู้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม การทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนั้นยังต้องขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อช่วย SMEs ให้ร่วมยกระดับเศรษฐกิจฐานรากสู่ความยั่งยืนด้วย”

นายธรรมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำไม่เพียงช่วยบรรเทาความรุนแรงของวิกฤตโลกเดือด แต่ยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจและประเทศ โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจขาลง ตลาดแข่งขันสูงจากสินค้านำเข้าจากจีน การบังคับใช้มาตรการ CBAM ที่จะกระทบต่อภาคการผลิต นำเข้า และส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอน เราจึงต้องเร่งเปลี่ยนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยวิธีการอื่น ๆ  ปีนี้ทุกภาคส่วนจึงร่วมกันจัดงาน ESG Symposium 2024 ภายใต้ธีม “Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส” โดยนำข้อเสนอจากการหารือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 5 ด้านสำคัญ ได้แก่  1) Saraburi Sandbox โมเดลต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย  2) Circular Economy การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้คุ้มค่าสูงสุด  3) Just Transition การสนับสนุนทรัพยากรแก่ภาคส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน 4) Technology for Decarbonization การพัฒนาเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  5) Sustainable Packaging Value Chain การจัดการแพคเกจจิ้งทั้งระบบอย่างยั่งยืน  มานำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อร่วม-เร่ง-เปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้เร็วขึ้นกว่าเดิม”

งาน ESG Symposium 2024 จัดขึ้นวันที่ 30 กันยายนนี้ ณ Hall 1 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา 11.00-16.30 น. โดยมีวิทยากรระดับโลกร่วมแบ่งปันประสบการณ์และตัวอย่างที่หลากหลายในการเปลี่ยนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมชมนิทรรศการจำลองการใช้ชีวิตแบบโลว์คาร์บอน รับชมการถ่ายทอดสดได้ที่ Facebook และ Youtube ของเอสซีจี ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.scg.com