“จุฬามณี” ให้แง่คิดนักเขียน ดูละครเยอะ ๆ หาแนวที่ชอบให้เจอ
สกู๊ปพิเศษ โดย…ยอดเยาวพา
เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นหน้าตานักเขียนชื่อดัง “จุฬามณี” หรือ เฟื่องนคร, ชอนตะวัน เจ้าของผลงาน “ชิงชัง”, “สุดแค้นแสนรัก”, “กรงกรรม” ที่ถูกนำไปทำละครดังเป็นพลุแตก! และติดกันทั่วบ้านทั่วเมืองที่งาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29” ในธีม “อ่านกันยันโลกหน้า” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-20 ตุลาคม2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยนักเขียนคนดังอารมณ์ดีได้ร่วมกับเพื่อนนักเขียนรอพูดคุยและแจกลายเซ็นแฟนคลับอยู่ที่บูธ O06
โดยพี่เฟื่อง หรือ นิพนธ์ เที่ยงธรรม เล่าถึงการก้าวสู่เส้นทางนักเขียน พร้อมแนะนำการเขียนนิยายอย่างไรให้ผู้จัดละครมองเห็น
“ชื่อ พี่เฟื่อง ครับ ผมเรียนสื่อสารมวลชน จบจากรามคำแหง จริง ๆ อยากเป็นนักข่าว อยากเป็นคอลัมนิสต์ อยากเขียนคอลัมน์ท่องเที่ยว ไม่ได้อยากเป็นนักเขียนเลยเพราะไม่เคยอ่านนิยาย ดูแต่ละคร พอเราเรียน ๆ ไปแล้วเราไม่สามารถเป็นนักข่าวได้เพราะเราต้องทำงาน เราเรียนรามคำแหงเวลาในการทำอะไรไม่มีเลย เวลาฝึกงานไม่มี เรามั่นใจว่าเราไม่ได้เป็นนักข่าวแน่ ๆ เราไม่มีโอกาสเข้าห้องเรียนนะครับ เรารู้สึกทักษะเราไม่พอจะทำแบบนั้นหรอก ก็เลยเบนมาลงวิชาโทภาษาไทยที่เกี่ยวกับการเขียนหนังสือนิยาย การเขียนแบบสร้างสรรค์ครับ เราก็เริ่มอ่านนิยายแบบวิเคราะห์ มันจะมีศาสตร์การเขียนนิยายอยู่ เราก็เอาศาสตร์มาวิเคราะห์หรือจับประเด็นให้ได้ แล้วเราก็คิดว่าถ้าเราเขียนนิยายแล้วนิยายเราจะดังและเป็นละครได้เราต้องทำยังไง ก็มีคิดเป็นสเต๊ป ๆ ไปครับ”
เรื่องแรกเขียนเรื่องสั้นลงในขายหัวเราะยุคนั้นชื่อเรื่อง “อีแอบทิงนองนอย” (หัวเราะ) เพื่อนตั้งให้ขำ ๆ เป็นเรื่องสั้นตลก ๆ พอเราได้ลงในขายหัวเราะแสดงว่าฝีมือเราเข้าขั้นแล้ว เพราะเราไม่ได้เรียนกับใคร เราเรียนด้วยตัวเอง พองานเราได้ลงขายหัวเราะเรามาถูกทางแล้วเราเข้าใจ พอลงขายหัวเราะเราก็ส่งไปกุลสตรี ส่งไปขวัญเรือน ส่งไปสยามรัฐก็ได้เรื่องสั้นรางวัลเกียรติยศคึกฤทธิ์ ปราโมชครับ (อยากรู้ว่านักเขียนคนเก่งคว้ารางวัลอะไรบ้างมีประวัติในหนังสือ “ตะเกียงกลางพายุ”) ผมส่งเยอะมากกว่าจะได้ลงครับ เชื่อไหมเรื่องขำ ๆ ผมไม่ได้ซื้อสยามรัฐปักษ์นั้นแต่เพื่อนที่ทำงานอยู่สนามบินดอนเมืองเขาเห็นเขาห่อหนังสือขึ้นเครื่องมาให้เราดู เรื่องที่ได้รางวัลคึกฤทธิ์ ปราโมชชื่อเรื่อง “เรือนตาย” คือผมส่งไปไม่รู้กี่เรื่องแต่ข้อดีนะ บก.จะตอบกลับมาว่า มันยังไม่ผ่านนะ อันโน้นยังอ่อนไป เราก็ต้องทำความเข้าใจ ผมต้องอ่านงานมากยิ่งขึ้น ดูว่างานชิ้นหนึ่งทำยังไงให้กลมกล่อมเข้าขั้น ต้องทำความเข้าใจเองอะ
พอหลังจากนั้นผมก็มาเขียนนิยายยาวเรื่อง “ชิงชัง” เป็นนิยายยาว 50 กว่าตอน ผมส่งประกวด ทมยันตี อะวอร์ด ได้พิมพ์ลงเล่มและแจ้งเกิดเป็นนักเขียนเลย ชิงชังผมเขียน ๆ หยุด ๆ 3-4 ปีเพราะผมบวชอยู่ด้วย เขียนนานเพราะโครงเรื่องมันใหญ่ พอชิงชังออกเล่มแล้วก็วางในงานหนังสือเราปลื้มอะ พอถัดมาสามเดือนเอ็กแซ็กท์ซื้อไปทำละคร ต่อมาก็ “สุดแค้นแสนรัก” ช่อง 3 ซื้อ ซึ่งช่อง 3 เห็นความสำเร็จจากชิงชังเลยโทรมาดีลบอกอยากได้แบบชิงชัง แล้วช่อง 3 ซื้อเรื่อง วาสนารัก ไปแต่ทำละครเรื่อง ‘กรงกรรม’ ที่ดังมากออกมาก่อน จากที่ละครถูกนำไปทำละครเกิดความกดดัน คือเอาแค่ ช่อง 3 โทร.มาบอกอยากได้แบบชิงชังความกดดันเกิดขึ้นแล้ว แค่คำเดียวว่าอยากได้แบบชิงชัง เรารู้สึกว่าประตูมาลีนนท์เปิดแล้วจะถืออะไรไปให้เขาล่ะ โอกาสมาแล้วแต่การจะเดินเข้าตึกมาลีนนท์ไม่ได้ง่าย เราก็คิดแบบนั้น ทำให้เราไปขบคิดเยอะมากกก มันเป็นเรื่องธุรกิจไงครับ เราจะทำยังไงให้เขาเอาของเราไปแล้วได้กำไร ถ้าเราทำให้เขาได้กำไรเราก็จะดังยิ่งขึ้นเพราะเขาคือช่อง 3 เราต้องมาขบคิดเยอะแยะ เยอะจริง ๆ ตอนที่เขียนสุดแค้นแสนรัก
กดดันมาก เพราะคนชมเรามากจากสุดแค้นฯ คนชมเรามากจากกรงกรรม พอจะเขียน “บุษบาตาคลี” กับ “สิรินนารี” ซึ่งช่อง 3 ซื้อไปแล้วแต่ยังไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นในความกดดันเหมือนคนมั่นใจว่าเรามีฝีมือ เหมือนนักเขียนที่ขายฝีมือ พอเราจะออกเรื่องใหม่ไม่ใช่ว่าคนอ่าน ๆ แล้วคิดว่าคนละคนเขียนหรือเปล่าเนี่ย เรากลัวอย่างนี้มากกว่า เราก็ต้องทำให้สุดฝีมือ เพราะเราดันทำให้มันสุดฝีมือมาก่อน พอจะเขียนอะไรใหม่ ๆ ก็ต้องคิดเยอะเพราะความกดดันมันก็ย้อนกลับมา
สำหรับคนที่อยากเขียนให้งานเป็นละครนะครับ ก็สิ่งที่แนะนำก็คือต้องดูละครให้เยอะ ๆ ก่อน และปัจจุบันเทรนของละครมันเปลี่ยนไปเยอะมาก เพราะฉะนั้นอยากให้งานทำละครคุณต้องดูละคร แล้วคุณชอบละครแนวไหนสไตล์ไหนเอาแนวที่เราชอบก่อน แล้วถ้าเราต้องเสิร์ฟแบบละครบ้างเราจะเสิร์ฟแบบไหน นั่นคือวิธีการดีที่สุด คิดก่อนว่าเราชอบแบบไหน และคิดให้ทันกับกระแสของตลาดครับ
ตอนนี้ผมก็หันมาเปิดบูธกับเพื่อน ๆ ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติที่จบไป เจอกันปีหน้าครับ”