สสว. ลงพื้นที่ชุมชนหลังวัดโรมัน จ.จันทบุรี ส่งเสริมผู้ประกอบการ EEC หนุนการท่องเที่ยว โมเดล Blue Zone
สสว. ลงพื้นที่สำรวจชุมชนหลังวัดโรมัน จังหวัดจันทบุรี ภายใต้ กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2567 วางแผนประชาสัมพันธ์ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่มท่องเที่ยว โดยเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในโมเดล Blue Zone ชูความโดดเด่นด้านคุณภาพชีวิตของคนใน 3 ชุมชน 3 วัฒนธรรม ที่มีอายุยืนยาว มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว หวังช่วยยกระดับธุรกิจชุมชน พร้อมเพิ่มโอกาสทั้งในประเทศ และสร้างชื่อเสียงระดับสากลต่อไป
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า ในปี 2567 นี้ สสว.ได้จัดให้มี กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อยกระดับนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดการลงทุนหรือสามารถก่อตั้งธุรกิจได้ และเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ ซึ่งจังหวัดจันทบุรี เป็นจังหวัดพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความพร้อม ทั้งอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว และอยู่ในกรอบที่ สสว. จะเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการ ในจังหวัดจันทบุรีมากขึ้น
“ล่าสุด คณะทำงานของ สสว. ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจชุมชนริมน้ำจันทบูร จังหวัดจันทบุรี เพื่อวางแผนประชาสัมพันธ์ สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในโมเดล Blue Zone พื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีเเละประชากรมีอายุที่ยืนยาว ซึ่งชุมชนนี้มีความใกล้เคียงกับโมเดลดังกล่าว คือมีลักษณะเด่น ด้านคุณภาพชีวิตที่ดี มีผู้สูงอายุ และเด็กอยู่ร่วมกัน มีการผสมผสานสืบทอดต่อวิถีชีวิตจากรุ่นสู่รุ่น และพัฒนาเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนตนเอง ทั้งนี้ เรามีแผนจะประชาสัมพันธ์ชุมชนนี้ ทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ เช่น ที่ไต้หวัน ในเร็วๆ นี้ด้วย”
ด้าน นางสกุณา นิโรจน์ หัวหน้ากลุ่มชุมชนหลังวัดโรมัน เผยว่า ชุมชนเหลังวัดโรมัน เป็นชุมชน 3 เชื้อชาติ
3 วัฒนธรรม มีชุมชนชาวญวน ที่เป็นคาทอลิกเวียดนามอพยพมา มีชุมชนของชาวจีนที่อพยพมาเช่นเดียวกัน และมีชุมชนของคนไทยดั้งเดิม ตั้งอยู่ใน อ.เมือง จ.จันทบุรี มีเส้นทางเดินเที่ยวที่สามารถเชื่อมโยงไปจนถึงชุมชนริมน้ำจันทบูรได้ โดยตั้งอยู่ด้านหลังของวัดโรมัน เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ชาวบ้านเชื้อสายไทย จีน และญวนมาตั้งรกรากมานานกว่า 300 ปี เป็นที่รวบรวมของกินมากมายที่มีเอกลักษณ์” ผู้นำชุมชน เล่าต่อไปถึงลักษณะเด่นของชุมชนหลังวัดโรมันว่า “เรามีอาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล มีอายุถึง 300 กว่าปี โบสถ์หลังนี้สร้างเป็นหลังที่ 5 แล้ว ถือเป็นศูนย์รวมความเชื่อของชุมชน ส่วนคนรุ่นใหม่ในชุมชนถือว่าเป็นเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะส่วนใหญ่ที่เรียนจบแล้ว มักจะกลับภูมิลำเนา เพื่อช่วยพัฒนาชุมชน เช่น กลับมาเปิดร้านอาหาร หรือคาเฟ่ เพื่อเป็นการส่งเสริมท่องเที่ยว
“หากมาท่องเที่ยวชุมชนของเราสิ่งที่ท่านจะได้สัมผัส เช่น บ้านพักที่เป็นบ้านไม้เก่าแก่เป็นของคหบดีเก่า
รีโนเวทใหม่ แต่ยังคงความเป็นบ้านไม้แบบโบราณ ส่วนอาหารการกิน ถือเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนเรา อาหารพื้นถิ่นของชาวเวียดนาม เช่น หมูฮ้อง ขนมโบ๋ ขนมตะแบ้ว ข้าวเกรียบหน้ากุ้ง บั้นเชฟ แจงลอน ขนมมัดไต้ ข้าวเกรียบอ่อนน้ำจิ้ม ขนมข้าวตอก ขนมเบื้องญวน ถุงทอง ซี่โครงหมูอบโอ่ง ปาท่องโก๋จิ้มน้ำจิ้ม หรือแม้กระทั่งขนมฝรั่งกุฎีจีน ที่ชาวเวียดนามอพยพนำมาถ่ายทอดให้เรา ส่วนในเชิงของการผสมผสาน ผู้สูงอายุในชุมชนของเราก็ยังคงเป็นเสาหลักทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมเรื่องอาหาร หรือกิจกรรมใดๆ”
ด้าน นางสาวกุลภัค สุขสำราญ พงษ์ประยูร ผู้ก่อตั้งและ creative Director บริษัท ซิสเตอร์ลี่ จิวเวลรี่ จำกัด ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในจังหวัดจันทบุรี ที่ได้มีโอกาสกลับบ้านมาสานต่อทางอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นรุ่นที่ 3 ของครอบครัว ที่ทำอัญมณีตลาดพลอยจังหวัดจันทบุรี เล่าว่า ตนเคยประสบอุบัติเหตุบนเครื่องบิน ทำให้ไม่สามารถทำงานเป็นแอร์โฮสเตสได้ จึงกลับภูมิลำเนามาพัฒนาแบรนด์จิวเวลรี่ของตัวเอง เพื่อสานต่อความตั้งใจของ คุณย่ามณี สุขสำราญ ผู้เป็นผู้ริเริ่มทำจิวเวลรี่ ของครอบครัว จนประสบความสำเร็จ ทำให้ค้นพบว่า อัญมณี เครื่องประดับ และการที่เรามีแรงบันดาลใจต่างๆ มาจากชุมชน เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขที่จะตื่นมาทำงานในทุกวัน จึงหันมาออกแบบจิวเวลรี่ และมักได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุมชนพื้นถิ่น อย่างเช่น คอลเลกชั่นดอกทุเรียน ในทุกปีจะเป็นสัญญะแห่งการประสบความสำเร็จที่เราทำงานหนักมาทั้งปี ชาวสวนจังหวัดจันทบุรีทำงานหนักมาทั้งปีแล้ว ก็ได้พบภาพที่สวยงามของดอกทุเรียนที่สวยงาม กลิ่นที่หอมหวน จึงหยิบแรงบันดาลใจตรงนี้มาเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขของคอลเลกชั่นหนึ่งของแบรนด์ที่ชื่อว่า The durian Flower
“เราได้มีโอกาสนำ Company Profile สมัครเข้าร่วม exhibition นานาชาติหลายครั้ง และล่าสุดเราได้รับคัดเลือกเป็น Top Thai Brand ปี 2024”
นอกจากจะนำภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่เป็นอัญมณีและเครื่องประดับ ประชาสัมพันธ์ให้กับนานาชาติได้เห็นความสวยงามแล้ว ขณะนี้เธอกำลังพัฒนาน้ำผลไม้พื้นถิ่น ชื่อว่า Jewelry Juice Thailand ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอัญมณี ประกอบไปด้วย 3 รสชาติ ได้แก่ น้ำมังคุด น้ำมะปี๊ด และน้ำมะม่วง โดยตั้งใจเลือกเป็นผลไม้พื้นถิ่นตามฤดูกาล และใช้แรงงานเป็นคนในท้องถิ่น ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่าย จะคืนกลับสู่ชุมชนในแคมเปญต่างๆ เช่น รักษาช้าง หรือดูแลน้องๆ สถานพินิจคุ้มครองเด็กเยาวชนและครอบครัวซึ่งเป็นแคมเปญคืนคนดีสู่สังคมของแบรนด์
“ขอชวนทุกท่านมาเที่ยวจังหวัดจันทบุรี รับรองว่าทุกท่านที่ได้มาเที่ยว จะได้สัมผัสความน่ารักของผู้คนชุมชนริมน้ำ หรือจะเป็นความสวยงามของศิลปะวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมเก่าแก่ ภูมิปัญญาด้านอาหารต่างๆ และที่ขาดไม่ได้เลย คือภูมิปัญญาด้านช่างฝีมือเครื่องประดับจิวเวลรี่ที่ทำด้วยมือจริงๆ เรามีแบรนด์ต่างๆ มากมายที่มีคุณภาพ ที่ส่งเสริมภูมิปัญญาพื้นถิ่น พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม รวมถึงคาเฟ่น่ารักๆ อีกหลายแห่ง ที่สนับสนุนภูมิปัญญาพื้นถิ่นให้ยั่งยืน” นางสาวกุลภัค ทิ้งท้าย