ในประเทศ

ดีอี ผนึก ‘อว.- ศธ.’ ร่วมมือ UNESCO เตรียมเป็นเจ้าภาพงาน “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025”

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จัดแถลงข่าวประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการ เตรียมเป็นเจ้าภาพ จัดงานระดับโลก “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ชูแนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2568  ที่กรุงเทพฯ คาดมีผู้นำและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกยูเนสโก กว่า 194 ประเทศ รวมกว่า 800 คน เข้าร่วมงาน นับเป็นการจัดการประชุมนานาชาติครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก ตอกย้ำความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นผู้นำร่วมขับเคลื่อนจริยธรรม รวมถึงยกระดับการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้ AI ของโลก สู่การปฏิบัติจริงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างยั่งยืน  พร้อมกันนี้ ในงานแถลงข่าวยังเป็นก้าวสำคัญในการแสดงจุดยืนต่อผู้นำโลก ถึงความพร้อมของการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาลของประเทศไทย ตามกรอบ UNESCO AI Readiness Assessment (UNESCO RAM) ซึ่งเป็นกรอบการประเมินความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ สะท้อนศักยภาพของการพัฒนาและใช้งาน AI อย่างรับผิดชอบ โปร่งใส เป็นธรรม ตามมาตรฐานสากล รวมถึงสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศ ด้านยุทธศาสตร์ การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ AI และการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบปัญญาประดิษฐ์

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้แสดงถึงวิสัยทัศน์ผ่านปาฐกถาพิเศษ ถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ที่ควรต้องเป็นไปตามหลักการสำคัญ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยมีแผนและการเตรียมการในการนำ AI มาใช้ในองค์กรเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2567 สูงถึง 73.3% ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 20% (ข้อมูลจากรายงาน
AI Readiness Measurement 2024) ที่จัดทำโดย ETDA และ สวทช. นอกจากนี้ ประเทศไทยได้มีการประกาศ แนวทางการกำกับดูแลโดยมี “แนวทางการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหาร” และ “คู่มือแนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร” is เพื่อประโยชน์ในการนำแนวทางและคู่มือไปประกอบการพิจารณาการนำ AI มาใช้ในระดับองค์กรเพิ่มมากขึ้น 

ดังนั้น จากศักยภาพของประเทศในมิติต่างๆ จึงได้นำไปสู่ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพร่วมเพื่อจัดงาน “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ในปีหน้านี้ จะมีทั้งเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้        การส่งเสริมความร่วมมือในระดับพหุภาคี รวมไปถึงการเสริมสร้างความสามารถในการกำกับดูแล AI ในประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ถือได้ว่าจะเป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลก ที่ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก และแสดงให้เห็นว่าไทยเองมีความสามารถในการเป็น  “แหล่งเรียนรู้” ในด้าน AI Governance ที่พร้อมร่วมมือกับ UNESCO อีกด้วย

ด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึง ความพร้อมของประเทศไทยจากบทบาทของ กระทรวง อว. ในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยี AI ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยไม่เพียงเน้นสร้างนวัตกรรมเท่านั้น ยังให้ความสำคัญกับจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีหน่วยงาน ภายใต้กระทรวง อว. คือ สวทช. ที่ร่วมผลักดันการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม AI ที่จะช่วยตอบโจทย์ระดับประเทศ รวมถึงการมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนากรอบจริยธรรม AI ที่มุ่งเน้นความสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล ประกอบกับ ประเทศไทยได้มีการส่งเสริมและพัฒนาความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ผ่านการเตรียมทำการประเมินความพร้อมด้าน AI ตามกรอบแนวทางของ UNESCO RAM ที่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ไทยได้เข้าใจสถานการณ์ความพร้อม ซึ่งครอบคลุมในมิติต่างๆ อีกทั้งข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ จะพัฒนาไปเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสนับสนุนการวางแผนสำหรับประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนการปรับปรุงในมิติที่จำเป็น ภายใต้บริบทของไทยให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การร่วมจัดงาน Global Forum on the Ethics of AI 2025 ในปีหน้านี้ จะช่วยสะท้อนถึงการผนึกกำลังที่เข้มแข็งระหว่างกระทรวง อว. พร้อมด้วยกระทรวงดีอี และกระทรวง ศธ. จากประเทศไทย ในการทำงานร่วมกับ UNESCO เพื่อร่วมสร้างอนาคตที่เท่าเทียมและยั่งยืนสำหรับทุกคน

ขณะที่ นายซิง ฉวี่ รองผู้อำนวยการใหญ่ UNESCO ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยในความเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลจริยธรรม AI และการผลักดันความร่วมมือระดับนานาชาติ พร้อมเน้นย้ำว่าภารกิจของยูเนสโก ในการสร้างสันติภาพผ่านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตของผู้คน พร้อมยังกล่าวถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าในโครงสร้างพื้นฐาน AI ของภูมิภาค จนอาจนำมาสู่ความท้าทายที่เกิดขึ้น เช่น ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และผลกระทบต่อการจ้างงานจากระบบอัตโนมัติอย่าง AI เป็นต้น ซึ่งการที่ประเทศไทยได้มีการนำกรอบแนวทางการประเมินความพร้อมด้าน AI ของยูเนสโก (UNESCO RAM) มาใช้นั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของกรอบการทำงานในการประเมินความพร้อมด้านการประยุกต์ใช้ AI ของไทย ที่มีความแข็งแกร่งและพร้อมส่งเสริมการใช้ AI ด้วยโปร่งใส ตามกรอบธรรมาภิบาลและจริยธรรมตามมาตรฐานสากล โดย Global Forum on the Ethics of AI 2025 จะเป็นเวทีสำคัญสำหรับการเจรจาระดับโลกในการร่วมพัฒนาจริยธรรมการประยุกต์ใช้ AI ที่เคารพสิทธิมนุษยชน โปร่งใส เป็นธรรม พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านธรรมาภิบาลจริยธรรม AI อย่างแท้จริง

พร้อมกันนี้ ในการแถลงข่าวความร่วมมือครั้งนี้ ประเทศไทย ยังได้ประกาศจุดยืนต่อผู้นำโลก ถึงความพร้อมของการประยุกต์ใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาล ตามกรอบ UNESCO’s AI Readiness Assessment หรือ UNESCO RAM พร้อมเปิดเวทีเสวนาเชิงลึกโดยผู้นำและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง กับการเสวนาใน 2 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

  • “Thailand’s Journey in Driving AI Ethics & Governance: Insights from Hosting the Global Forum on the Ethics of AI”  เส้นทางของไทยในการขับเคลื่อนจริยธรรมและการกำกับดูแล AI: มุมมองจากการเป็นเจ้าภาพ Global Forum on the Ethics of AI โดย ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ. NECTEC,
    ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA และ ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ที่จะมาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์การใช้การประชุมระดับโลกครั้งนี้เป็นแพลตฟอร์มในการยกระดับบทบาทของไทยสู่การเป็นผู้นำด้าน AI ในระดับสากล
  • “Policy and Strategic Frameworks”, in the Region Readiness Assessment Methodology (RAM)” นโยบายและกรอบยุทธศาสตร์” ในกรอบแนวทางการประเมินความพร้อมระดับภูมิภาค โดยนายอิราคลี โคเดลี หัวหน้าหน่วยจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ UNESCO ร่วมกับ ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์          ผอ. ETDA, ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ. NECTEC ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการวางกรอบการประเมินความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ (UNESCO RAM) ที่จะเป็นเครื่องมือมาตรฐานสำหรับประเทศในภูมิภาค พร้อมแนวทางการจัดตั้งหอสังเกตการณ์จริยธรรมและการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ระดับโลก  ที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ที่ยั่งยืน

จากสถานการณ์การเตรียมความพร้อมของประเทศ และกระแสการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาลในเวทีระดับโลก ที่สะท้อนจากมุมมองในระดับนโยบายของประเทศ สู่ความร่วมมือจากหน่วยงานสำคัญของไทยและ UNESCO จึงได้นำสู่การร่วมดำเนินงานโครงการสำรวจความพร้อมด้านจริยธรรม AI ของประเทศไทยตามแนวทางแนะนำของ UNESCO (โดยติดตามความคืบหน้าในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ได้ผ่านเพจ https://www.ai.in.th/) รวมถึงการเตรียมจัดการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกในเอเซียแปซิฟิก “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ในแนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2568 ที่กรุงเทพฯ โดยติดตามความคืบหน้าในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ได้ผ่านเพจ ETDA Thailand