ในประเทศ

UNIDO หนุนมุ่งลดคาร์บอนภาคอุตสาหกรรมซีเมนต์ไทย

องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) เดินหน้าสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมไทย เปิดตัวโครงการใหม่ชื่อ การลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตในประเทศไทย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 8 ล้านดอลลาร์แคนาดา จากกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศแคนาดา โดยโครงการฯ มุ่งหมายที่จะช่วยเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีต ทั้ง ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการเงินเข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันพัฒนากลยุทธ์การลดคาร์บอนที่เป็นรูปธรรม สามารถสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ของประเทศไทยให้เป็นจริง และนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน

โครงการนี้ดำเนินงานควบคู่กับอีกโครงการของ UNIDO ชื่อ Industrial Deep Decarbonization Initiative (IDDI)  ซึ่งทำงานร่วมกับรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อสนับสนุนตลาดรองรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ เช่น  เหล็ก ซีเมนต์ และคอนกรีต อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมความร่วมมือต่างๆ ตามแผน Breakthrough on Cement and Concrete ซึ่งปัจจุบันมีแคนาดาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประธานร่วม

อุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีต มีอัตราการปล่อยคาร์บอนประมาณ 7-8% จากการใช้พลังงานทั่วโลก เนื่องจากกระบวนการผลิตต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการคงอุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่อง และการปล่อยก๊าซจากกระบวนการแปรสภาพทางเคมีของหินปูนเป็นปูนเม็ด การลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีต นอกจากจะนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ แต่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทั้งระบบอย่างครอบคลุม  

โดยทาง UNIDO ได้จัดงานเสวนาเพื่อเปิดโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ภายในงานทางโครงการได้อธิบายวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดจากโครงการ มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 100 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม นักวิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีการเสวนาถึงแนวปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านนโยบายและการดำเนินงานจากประเทศแคนาดา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และจีน ที่จะช่วยสนับสนุนการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรม และการนำมาแลกเปลี่ยนความรู้ และประยุกต์ใช้ในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน

โครงการฯ ได้รับเกียรติจาก เอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย คุณปิง กิดนิกร กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมหนักอย่างซีเมนต์ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส อุตสาหกรรมเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นส่วนสำคัญสำหรับงานโครงสร้างพื้นฐานที่คาร์บอนต่ำและรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โครงการด้านสภาพภูมิอากาศแบบทวิภาคีนี้มุ่งเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านสภาพภูมิอากาศโดยให้ความสำคัญกับการริเริ่มและส่งเสริมความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงในความพยายามลดการปล่อยคาร์บอน ที่สำคัญกว่านั้น ความร่วมมือระหว่างประเทศแคนาดาและประเทศไทยครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ซึ่งรวมถึงการกำหนดนโยบาย ข้อบังคับ มาตรฐาน และแนวปฏิบัติสำหรับกระบวนการผลิตภัณฑ์ซีเมนต์แบบคาร์บอนต่ำ เมื่อสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการดำเนินงานแล้ว ประเทศไทยจะสามารถนำผลการดำเนินงานไปใช้และขยายผลได้เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

ในงานได้กล่าวถึงแผนงานเชิงองค์รวมสำหรับการบรรลุเป้าหมายคอนกรีตคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ของประเทศแคนาดา ซึ่งข้อเสนอด้านนโยบายที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านนี้ ระบุถึงข้อกำหนดขั้นต่ำและข้อบังคับสำหรับปัจจัยอย่าง หลักเกณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศและมาตรฐานประสิทธิภาพสำหรับผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ การกำหนดราคาคาร์บอน นโยบายจัดซื้อจัดจ้าง และโครงการสนับสนุนด้านการเงินและภาษี อีกหนึ่งตัวอย่างของแนวปฏิบัติระดับสากลที่กล่าวถึงคือ คือแผนงานการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตของสหราชอาณาจักร ที่มีข้อเรียกร้องหลักต่อรัฐบาล เช่น การออกมาตรการใหม่ในประเทศเพื่อลดความเสี่ยงจากการรั่วไหลของคาร์บอน ความชัดเจนในระยะยาวเกี่ยวกับเงินทุนและการสนับสนุน การนำมาตรการคำนวณคาร์บอนแบบใหม่มาใช้ และการใช้อำนาจของรัฐบาลในการจัดซื้อจัดจ้าง

เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เป็นไปในทางเดียวกันในการดำเนินโครงการฯ UNIDO จะดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับคณะทำงานหลักในขับเคลื่อนโครงการฯ โดยคณะทำงานมาจาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมบัญชีกลาง กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ดร. ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรธมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ได้กล่าวภายในงานว่า “TCMA ขอขอบคุณรัฐบาลแคนาดา ที่เห็นถึงการทำงานอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทย และให้การสนับสนุนโครงการนี้ ปัจจุบัน TCMA ร่วมกับ UNIDO โดยการสนับสนุนของภาครัฐ ได้ร่วมกันจัดทำโครงการนำร่องในปีแรกแล้ว ซึ่งสะท้อนภาพความสำคัญของการเร่งลงมือทำของทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

คุณริคาร์โด ซาวิกเลียโน หัวหน้าหน่วย Energy Systems and Decarbonization ของสำนักงานใหญ่ UNIDO ได้กล่าวว่า “การพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของเราไม่ควรส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ UNIDO และพันธมิตร พร้อมเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ UNIDO มีความยินดีที่เห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการเดินหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และรัฐบาลแคนาดาในการเป็นผู้นำสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมซีเมนต์สู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของในระดับโลก”