January 15, 2025
การเงิน- หลักทรัพย์- ประกัน

มีเงินเย็น 1 ล้าน เอาไปทำอะไรที่ได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ

เชื่อว่าคนที่ตั้งใจทำงาน อดทนเก็บหอมรอมริบจนสามารถเก็บเงินล้านที่เป็นเงินเย็นไว้ในบัญชีได้ นอกจากจะต้องเป็นคนที่มีศักยภาพ มีความสามารถในการหาเงินแล้ว ยังเป็นคนที่ต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกล และอยากที่จะต่อยอดเงินล้านในบัญชีของตนเองอย่างแน่นอน

แต่คำถามที่หลายคนยังสงสัย และอาจจะยังหาคำตอบกันอยู่ก็คือ เงิน 1 ล้านลงทุนอะไรดี ซึ่งต้องบอกเลยว่าวิธีการที่จะทำให้เงินงอกเงยก็มีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงินกับธนาคารผ่านเงินฝากดอกเบี้ยสูง หรือจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวม หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทต่าง ๆ แต่จะเลือกวิธีใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนที่สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในระดับไหน ส่วนสำหรับท่านใดที่มองหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เน้นสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอ ทางเลือกอย่างเงินฝากกองทุน Term Fund หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ยิ่งหากรวมกับพลังดอกเบี้ยทบต้น ก็ยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้เงินล้านก้อนนี้เติบโตได้อย่างมั่นคงได้

 

เงินล้านที่มีต่อยอดอย่างไรดี? เน้นความเสี่ยงต่ำ เงินเติบโตอย่างต่อเนื่อง

คนที่มีเงินล้านแล้ว ย่อมต้องอยากลงทุนเพิ่มเพื่อต่อยอดเงินล้านให้งอกเงย แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่า เงิน 1 ล้าน ลงทุนอะไรดี และมีความกังวลเกี่ยวกับการลงทุน ไม่อยากลงทุนในสินทรัพย์หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงมากจนเกินไปนัก เพราะไม่อยากให้เกิดผลกระทบต่อเงินเก็บที่มีอยู่ หลายคนจึงเลือกต่อยอดเงินล้านด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง เงินฝากประจำ หรือกองทุน Term Fund เป็นต้น

1. การต่อยอดเงินล้านด้วยการฝากเงิน

การฝากเงินถือเป็นการต่อยอดเงินออมรูปแบบหนึ่ง เพราะคุณจะได้ผลกำไรจากเงินต้นเป็นดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งจะมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินต้นที่นำไปฝาก และรูปแบบบัญชีที่เลือกฝาก ซึ่งปัจจุบันธนาคารก็มีผลิตภัณฑ์กลุ่มเงินฝากที่เลือกได้หลากหลายขึ้น พร้อมกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ผ่านบัญชีออมทรัพย์ประเภทเงินฝากดอกเบี้ยสูง หรือฝากประจำดอกเบี้ยสูง ซึ่งข้อดีของการต่อยอดเงินล้านด้วยการฝากเงินไว้กับธนาคารก็คือ เงินต้นของคุณจะปลอดภัยมากกว่าการนำไปลงทุนในหุ้น หรือกองทุนรวม

2. การต่อยอดเงินล้านด้วยการลงทุนผ่านกองทุน Term Fund

สำหรับคนที่กำลังเกิดคำถามกับตัวเองว่า “มีเงิน 1 ล้านลงทุนอะไรดี” ที่มีความเสี่ยงต่ำ การลงทุนผ่านกองทุน Term Fund เป็นอีกรูปแบบการลงทุนที่ตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี เพราะกองทุน Term Fund คือ กองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำจากการลงทุน แต่จะมีระยะเวลาการลงทุนที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน เช่น ระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เป็นต้น เมื่อครบระยะเวลาการลงทุนแล้ว กองทุนจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนแบบอัตโนมัติ และกองทุนประเภทนี้จะแสดงผลตอบแทนโดยประมาณไว้ในหนังสือชี้ชวน ทำให้ผู้ลงทุนสามารถคาดการณ์ผลตอบแทนก่อนลงทุนได้ แต่อย่างไรก็ตามผลการลงทุนจริงอาจจะได้มากหรือน้อยกว่าที่หนังสือชี้ชวนประมาณการไว้ได้

3. เพิ่มโอกาสการลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้

กองทุนรวมตราสารหนี้ อย่างเช่นกองทุนเปิดกรุงศรีสมาร์ทตราสารหนี้-สะสมมูลค่า (KFSMART-A) ถือเป็นการลงทุนเพื่อต่อยอดเงินล้านที่น่าสนใจเช่นกัน และตอบโจทย์การลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลางค่อนต่ำ ซึ่งกองทุนรวมประเภทนี้จะเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ทั้งของภาครัฐบาลและเอกชน รวมไปถึงสามารถเลือกได้ว่า ต้องการกองทุนที่ลงทุนในประเทศ หรือต่างประเทศ

 

เงินล้านปลอดภัย เติบโตด้วยพลัง “ดอกเบี้ยทบต้น”

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะต่อยอดเงินล้านด้วยวิธีการฝากเงินกับธนาคาร หรือลงทุนในกองทุนรวม Term Fund หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ ต่างก็มีความเสี่ยงต่ำในการลงทุนด้วยกันทั้งนั้น หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า แล้วแบบนี้ผลตอบแทนที่ได้คงน้อยมาก ๆ เลยใช่หรือไม่ คำตอบคือ ผลตอบแทนจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่จำนวนเงินเริ่มต้นลงทุน การเพิ่มเงินลงทุน และระยะเวลาที่ลงทุน เพราะเงินต้นและระยะเวลาลงทุน ยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเห็นพลังของสิ่งที่เรียกว่า “ดอกเบี้ยทบต้น” มากขึ้นเท่านั้น

ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพง่าย ๆ จากพลังของดอกเบี้ยทบต้น เราไปดูสถานการณ์ของนาย A และนาย B ที่ต้องการต่อยอดเงินล้านด้วยกันทั้งคู่ โดยมีผลตอบแทน 3% ต่อปี สำหรับระยะเวลา 5 ปี แต่ต่างกันที่วิธีการต่อยอดเงินลงทุน

เงื่อนไขการลงทุนของทั้งคู่ที่เหมือนกัน คือ เงินเริ่มต้นลงทุน 1,000,000 บาท ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3% ต่อปี = 30,000 บาทต่อปี

นาย A ลงทุนแบบไม่นำผลตอบแทนมาใช้ (ดอกเบี้ยทบต้น) : หากลงทุนเป็นระยะเวลา 5 ปี จะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 1,159,274.07 บาท (ได้รับดอกเบี้ย 159,274.07 บาท)

นาย B ต้องนำเงินผลตอบแทนมาใช้ทุกปี : หากลงทุนเป็นระยะเวลา 5 ปี จะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 1,150,000 บาท (ได้รับดอกเบี้ย 150,000 บาท)


เมื่อเวลาผ่านไปครบ 5 ปี พบว่า นาย A ที่ลงทุนต่อเนื่องโดยไม่นำผลตอบแทนออกมาเลย จะได้รับดอกเบี้ยรวมเยอะกว่า นาย B เป็นจำนวนเงิน 9,274.07 บาท ดังนั้นจำนวนเงินลงทุนและระยะเวลาในการลงทุน จึงส่งผลโดยตรงต่อผลประโยชน์ที่จะได้รับ ด้วยพลังของดอกเบี้ยทบต้นนั่นเอง

เริ่มต้นเร็ว ออมก่อน รวยกว่า

การเริ่มต้นออมเงินและลงทุนเร็ว จะสามารถนำไปสู่ความมั่งคั่งได้ไวตามไปด้วย ดังนั้นยิ่งเริ่มต้นในการออมเร็วมากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่จะรวยก่อนและรวยกว่าได้ หากใครยังคงต้องการมีสภาพคล่องก็แนะนำให้เลือกเป็นเงินฝากดอกเบี้ยสูง หรือฝากประจำดอกเบี้ยสูง ส่วนใครที่อยากเลือกลงทุนในกองทุนรวม เพื่อเปิดโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น สามารถเลือกลงทุนกับกองทุนเปิดกรุงศรีสมาร์ทตราสารหนี้-สะสมมูลค่า (KFSMART-A) ได้เช่นกัน ซึ่งมีรายละเอียดภาพรวมของกองทุน ดังนี้

KFSMART-A เป็นกองทุนรวมตราสารหนี้

ลงทุนในกลุ่มกองทุนรวม Short Term General Bond

ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้เอกชน โดยมีตราสาร Non-investment grade / Unrated ไม่เกิน 20% ของ NAV

ลงทุนแบบมีความเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ โดยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ

กองทุนมุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management)

ความเสี่ยงกองทุนระดับ 4 ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ


สำหรับใครก็ตามที่สนใจต่อยอดเงินล้านของตนเอง แต่ยังไม่มั่นใจว่ามีเงินล้านลงทุนอะไรดี ก็สามารถขอรับการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนเกษียณ การเงิน และการลงทุนโดยเฉพาะของ KRUNGSRI PRIME ได้ที่ช่องทางฮอตไลน์ 02-296-5959 ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 น. – 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจาก KRUNGSRI PRIME ติดต่อกลับได้เช่นเดียวกัน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

KFSMART-A อาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Non-Investment Grade) หรือที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Bond) ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุนขาดทุนจากการลงทุนบางส่วน หรือทั้งจำนวนได้ และในการขายคืนหน่วยลงทุนอาจไม่ได้รับเงินคืนตามที่ระบุไว้ในโครงการ