ครบรอบ13 ปี พ.ร.บ.คุมน้ำเมา เครื่องมือสำคัญปกป้องสังคมไทย“นักวิชาการ” ชี้ประสิทธิภาพกฎหมายยังไม่เต็มร้อย
วันนี้(10 กุมภาพันธ์ 2564) ที่เดอะฮอลล์ กรุงเทพฯ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ร่วมกับ เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา และภาคีเครือข่ายฯ จัดงานครบรอบ13 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ภายใต้ชื่องาน “ธุรกิจแอลกอฮอล์กับปัญหาเชิงโครงสร้าง และการควบคุมที่เป็นธรรม” ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมรำลึกคุณูปการ “นายแพทย์มงคล ณ สงขลา” บุคคลสำคัญในวงการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน
ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และนักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่าพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เป็นหนึ่งในกฎหมายที่มีเนื้อหาครอบคลุมมาตรการที่องค์การอนามัยโลกแนะนำมากที่สุดฉบับหนึ่ง เมื่อเทียบกับกฎหมายลักษณะเดียวกันในประเทศอื่นๆ พ.ร.บ.ดังกล่าวประกอบด้วยมาตรการจำกัดการเข้าถึง จำกัดกิจกรรมการตลาด รวมถึงการบำบัดรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งระบุไว้อย่างกว้างๆ พ.ร.บ.นี้ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่สุด ที่ช่วยควบคุมกิจกรรมของภาคธุรกิจเหล้าเบียร์ และปกป้องประชาชนจากภัยของแอลกอฮอล์ ทำให้อัตราการดื่มไม่เพิ่มขึ้น และมีสัดส่วนผู้ดื่มลดลงในการสำรวจจำนวนผู้ดื่มครั้งล่าสุดปี 2560
“ปัญหาที่ยังคงมีอยู่ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งขาดความเข้มข้น สม่ำเสมอ ขาดการบังคับใช้กฎหมายที่ดี ประชาชนต้องรู้สึกว่าหากทำผิด 4 ครั้ง มีโอกาสถูกจับ1ครั้ง ซึ่งค่อนข้างมั่นใจว่าโอกาสฝ่าฝืนกฎหมายแล้วโดนดำเนินคดีนั้นน้อยกว่านี้มาก นอกจากนี้ กระแสของสังคมที่ไปทางเสรีนิยมมากขึ้นนั้น ประชาชนโดยทั่วไปมักเข้าใจว่ามาตรการกฎหมายฉบับนี้ จำกัดเสรีภาพในการใช้ชีวิต มีความจำเป็นที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและภาคประชาสังคมต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า กฎหมายฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อควบคุมกิจกรรมของกลุ่มทุนแอลกอฮอล์ เพื่อให้ประชาชนมี “เสรีภาพ” ในการที่จะมีสุขภาพที่ดี เป็นการปลดแอกประชาชนจากอิทธิพลของทุนใหญ่” ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ถือว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกในประเทศ เกิดขึ้นเพื่อลดปัญหาผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เนื่องจากความคลุมเครือของเนื้อหา จึงควรจะปรับปรุงทำให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะการโฆษณาที่ข้ามพรมแดน หรือโฆษณาตราเสมือนต่างๆ รวมถึงการปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้โฆษณา ดังนั้นหากจะจัดการ ควรรื้อมาตราที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารการตลาด นอกจากนี้ยังพบการละเมิดกฎหมายจำนวนมาก ผิดจนไม่รู้จะผิดยังไง โครงสร้างพื้นฐานและกระบวนการยังน้อยไปที่จะขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายให้เห็นชัด
“กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์หรือมีอิทธิพลได้ ต้องมี 3 ปัจจัย คือ1.ความแรงของบทลงโทษ ซึ่งกฎหมายนี้มีโทษที่แรงอยู่แล้ว 2.ความสม่ำเสมอเป็นมาตรฐานเดียวกัน ของการบังคับใช้กฎหมาย และ3.ความรวดเร็ว คือ ถ้าทำผิดกฎหมายแล้วใช้เวลา อีก3-5ปี ในการลงโทษ ความเข้มแข็งตรงนี้จะน้อยลง ทั้งที่การทำผิดมันมีเยอะมาก มากกว่า อย.ที่เขาจับผู้ทำผิดได้ทุกเดือนด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ขออยากฝากไปยังธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้คิดถึงความชอบธรรมต่อสังคม แอลกอฮอล์จะอยู่ภายใต้ยี่ห้อไหน แบรนด์ใด รูปแบบใด มันส่งผลกระทบต่อสังคม มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ มีผลกับต้นทุนมนุษย์ มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตในประเทศ ต่างประเทศ มีความหลากหลายพึ่งพาสื่อโซเชียล ทำมาเก็ตติ้งออนไลน์เซลล์ ปากต่อปาก ซึ่งธุรกิจควรมีความแฟร์กับสังคม เพราะเป็นต้นเหตุใหญ่ที่ก่อปัญหา กระทบทั้งผู้ดื่มและไม่ได้ดื่ม หรือที่เรียกว่าแอลกอฮอล์มือสอง เขาต้องควักกระเป๋าตัวเองเพื่อมาจ่ายในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ” นพ.ทักษพล กล่าว
นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กฎหมายบังคับใช้มา13ปี มีทั้งความสำเร็จและหลายเรื่องยังไปไม่ถึงไหน กฎหมายออกมาดี แต่เวลาจะบังคับใช้ จะมีปัญหาเรื่องหลักฐานที่นำมาประกอบ มีการตีความว่าใช้อำนาจ เช่น ตรวจจับร้านค้ารายย่อยที่โฆษณาผิดกฎหมาย และล่าสุดมีกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์บังคับใช้ตั้งแต่ 7ธ.ค.2563 ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สิ่งสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ กลไกในระดับจังหวัดต้องขับเคลื่อนให้มาก ทำงานในพื้นที่ให้ชัดเจน บังคับใช้กฎหมายโดยที่ไม่ต้องรออาศัยอำนาจจากส่วนกลาง สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ คนที่บังคับใช้กฎหมาย คนดำเนินการต่อ ต้องเข้าใจตรงกัน เพราะหลายเคสเข้าใจคลาดเคลื่อนในเจตนารมณ์ของกฎหมาย นอกจากนี้ต้องสร้างการเรียนรู้ให้เข้าใจในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาศัยอำนาจการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
“การบังคับใช้กฎหมายยังเป็นข้อด้อยประสิทธิภาพ ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ จะต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างของกฎหมาย เพื่อให้ทันภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก หากเทียบกับอเมริกาแล้วเรามีจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าด้วยซ้ำ อีกทั้งในแงของการจดทะเบียน การรับรู้และเข้าถึงมันสะดวกง่ายดายมาก” นพ.นิพนธ์ กล่าว
ขณะที่ นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้รัฐมีมาตรการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด ทั้งการปิดสถานบันเทิง การห้ามขาย การลดเวลาขาย ส่งผลให้ธุรกิจแอลกอฮอล์ หันไปใช้การสื่อสารโฆษณาผลิตภัณฑ์ผ่านออนไลน์ อย่างมาก ทั้งในรูปแบบเพจรีวิวเพจชื่อผลิตภัณฑ์ ทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ส่วนกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ หลังบังคับใช้ถือว่า ผู้ประกอบการร้ายย่อยต่างให้ความร่วมมือดี จากผลสำรวจจากเพจสื่อสารทางออนไลน์ของผู้ประกอบการ ผับ บาร์ ร้านอาหาร กว่า 5 พันแห่งทั่วประเทศ พบว่าร้อยละ 80 ทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับพบว่า เพจของผลิตภัณฑ์และเพจรีวิวเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการทำผิด เกือบทั้งหมด นี่คือสิ่งยืนยันว่า ธุรกิจรายย่อย ให้ความร่วมมือ ทำการค้าขายเคารพกฎหมาย แต่ธุรกิจใหญ่ เจ้าของผลิตภัณฑ์ อาศัยทุกช่องทางในการทำผิดกฎหมาย
“ปัญหาเรื่องการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นกลไกที่กำหนดไว้ชัดเจนตามกฎหมายฉบับนี้ เราพบว่ายังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร คนติดเหล้ายังไม่มีช่องทางที่ชัดเจนในการเข้ารับการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ และสิ่งที่อยากฝากไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายคือให้เร่งดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมายโดยเฉพาะคดีที่ใกล้หมดอายุความ”นายคำรณ กล่าว