วุฒิสภาตั้งวงเสวนาค้านสุดลิ่มบุหรี่ไฟฟ้าหลังพบเด็กและเยาวชนเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าพุ่ง 10 เท่า
วุฒิสภาตั้งวงเสวนาค้านสุดลิ่มบุหรี่ไฟฟ้า “ประธาน กมธ.พัฒนาสังคมฯ” หนุนยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ หลังพบเด็กและเยาวชนเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าพุ่ง 10 เท่า ฉะยับบุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยคุกคามสุขภาพและสังคม บั่นทอนระบบเศรษฐกิจชาติระยะยาว “หมอประกิต” เตือนรัฐบาลอย่าหน้ามืดแก้กฎหมาย “บุหรี่ไฟฟ้าขายได้” ขู่ผิดพลาดต้องรับผิดชอบต่อคนไทย
ที่รัฐสภา วันที่ 31 มกราคม 2568 นางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลายทางสังคม วุฒิสภา เป็นประธานฯจัดเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “มาตรการเชิงรุกเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน” ณ ห้องประชุมหมายเลข 406-407 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา โดยมีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ภาควิชาการ ผู้แทนผู้ปกครอง/ชุมชน ผู้แทนเด็กและเยาวชนร่วมเสวนา โดยเครือข่ายทุกภาคส่วนแสดงความเห็นเป็นเอกฉันท์สนับสนุนให้มีการยกระดับการต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าเป็นภาวะแห่งชาติ ชี้เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพเด็กและเยาวชนอนาคตของประเทศ นอกจากนี้ยังเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อสังคม และส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมสังคมและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว พร้อมสนับสนุนให้รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาดและจริงจัง
นางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ กล่าวเปิดงานว่าจากรายงานพบว่าสถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนไทยกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต ข้อมูลจากปี 2565 ระบุว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มอายุ 15 – 24 ปี เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ภายในปีเดียวจาก 24,050 คน เป็น 269,533 คน ขณะที่เด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย (อายุ 9-12 ปี) ถึงร้อยละ 43 เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนหญิงมีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นมากกว่านักเรียนชายอย่างมีนัยสำคัญ ตัวเลขเหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนถึงภัยคุกคามที่กำลังทำลายสุขภาพและอนาคตของเยาวชนไทย ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นเพียงปัญหาสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมสังคมและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว โดยจากสถานการณ์ที่กล่าวมาคณะกรรมาธิการไม่สามารถนิ่งเฉยต่อปัญหานี้ได้ การเสวนาในวันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดมาตรการเชิงรุก ทั้งการสร้างความตระหนักรู้ การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ การเสริมสร้างบทบาท ของครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษา ตลอดจนการพัฒนานโยบายที่คำนึงถึง “ประโยชน์สูงสุดของเด็ก” เป็นสำคัญ สอดคล้องกับ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” และคณะกรรมาธิการฯจะนำข้อเสนอจากเวทีเสวนานี้เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อหยุดยั้งภัยบุหรี่ไฟฟ้า และสร้างอนาคตที่ปลอดภัยให้กับเยาวชน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯจะผลักดันการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศสืบต่อไป
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่าสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในเทศไทยเวลานี้ จากการสำรวจระดับประเทศทำไปเมื่อปีที่ก่อนพบว่าวัยรุ่นอายุ 13-15 ปี เสพบุหรี่ไฟฟ้า 17 % แต่เชื่อว่าปัจจุบันนี้น่าจะสูงประมาณ 20-30 % โดยผู้ชายกับผู้หญิงอยู่ในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน ส่วนผู้ใหญ่มี 2-3 % อย่างไรก็ตามสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในทุกอายุวัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล ปัจจุบันนี้การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในนักเรียนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งระบาดในเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปีลงมาแล้วยิ่งน่ากังวล ซึ่งการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าก็เหมือนการเสพติดบุหรี่ม้วนเพราะมีสารนิโคติน แต่ว่าความต่างคือเมื่อเสพติดตั้งแต่อายุน้อยยิ่งไปกระทบสมองที่กำลังพัฒนา ผลร้ายของสารนิโคตินต่อสมองของเด็กมันเยอะกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งบุหรี่ไฟฟ้ามีกลิ่นหอม สูบง่าย ไม่ระคายเคือง ไม่มีการเผา ยิ่งเป็นภัยอันตรายต่อเด็ก มีข้อมูลเด็กที่ติดบุหรี่ไฟฟ้ามีปัญหาป่วยซึมเศร้ามากกว่าเด็กที่ไม่สูบ 5 เท่า นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพจิต หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ เสียการเรียนหนังสือ\
ศ.นพ.ประกิต กล่าวด้วยว่าสำหรับสภาผู้แทนราษฎรไทยที่จะมีการประชุมเพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษากฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าฯที่จะเสนอทางเลือกนโยบายกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในไทย 3 แนวทาง คือ 1.ให้คงกฎหมายห้ามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด 2.เปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าชนิดที่ใช้ความร้อนอย่างถูกกฎหมาย และ 3.เปิดให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิดขายได้ถูกกฎหมายนั้น อยากให้ สส.และรัฐบาลได้รับทราบสิ่งที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ที่มีการเปิดให้มีการขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ถูกกฎหมาย แต่ได้เกิดปัญหาตามมา คือ การเก็บภาษีรายได้ลดลง แต่มีนักสูบหน้าใหม่ตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น 9.5 ล้านคน โดยเป็นวัยรุ่นมากถึง 1 ล้าน และอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 14 % ในปี 2564 เป็น 18.9 % ในปี 2566 ซึ่งฟิลิปปินส์มีรายได้ภาษีที่ลดลงทั้งๆที่จำนวนผู้สูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น มันสะท้อนให้เห็นว่ามีการระบาดของบุหรี่ผิดกฎหมายทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งหาก สส.และรัฐบาลไทยมีการยกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าตามข้อ 2 และข้อ 3 และหากความเสียหายเกิดขึ้นเหมือนฟิลิปปินส์ อยากถามว่าใครจะต้องเป็นคนที่รับผิดชอบ ทั้งจากรายได้ภาษีที่ลดลง ทั้งจำนวนนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น
“อยากฝากถึงรัฐบาล ถ้าเราพูดถึงภัยคุกคามเด็กและเยาวชนในเวลานี้ บุหรี่ไฟฟ้าถือว่าเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ของประเทศ แล้วมันก็โยงไปถึงนโยบายของรัฐบาลที่ว่าจะปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง ถ้าเปิดให้มีการขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ถูกกฎหมายแล้วยิ่งจะทำให้การปราบยาเสพติดยากมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องคิดให้ดีที่อยากจะเปลี่ยนกฎหมายเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าจาก “ห้ามขาย” เป็น “ขายได้” ตัวอย่างฟิลิปปินส์ก็มีให้เห็นแล้ว ทางที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยเวลานี้ คือการห้ามและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เป็นทางที่ดีสำคัญสำหรับอนาคตของเด็กและเยาวชนไทย” ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ที่บริเวณหน้าห้องเสวนาได้มีการจัดนิทรรศการการสร้างความตระหนักรู้และการดำเนินมาตรการการป้องกัน และแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานยุทธศาสตร์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เป็นต้น