ในประเทศ

OKMD เผยยุทธศาสตร์ปี 2569-2570 มุ่งสู่ “สังคมฐานความรู้” เสริมศักยภาพการแข่งขันและความยั่งยืนระยะยาว

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ OKMD ในช่วงปี พ.ศ. 2569-2570 โดยมีเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “สังคมฐานความรู้” (Knowledge-Driven Society) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันและความยั่งยืนในระยะยาว

โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วย 6 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. ขยายความร่วมมือเพื่อกระจายโอกาสการเรียนรู้ พัฒนาโครงการระดับประเทศ เช่น ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (OK-SD) และขยายโครงการไปยังภูมิภาคสำคัญ เช่น เชียงใหม่และขอนแก่น ผ่านโมเดลการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น Museum Siam, TK Park, Read Café และระบบแฟรนไชส์ 2. การจัดการความรู้ในด้านการบริการ (KM-as-a-Service) โดยการสร้างนวัตกรรมในกระบวนการเรียนรู้ พัฒนากลไกการคาดการณ์แนวโน้มทักษะความรู้ที่จำเป็นในอนาคต และสนับสนุนการพัฒนาการจัดการความรู้ในหลากหลายสาขา เพื่อรองรับความต้องการของสังคม 3. พัฒนาศักยภาพสมองและการคิด โดยการลงทุนในงานวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์และศาสตร์การรู้คิด เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ และต่อยอดสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

4.ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการรณรงค์การเรียนรู้: จัดโครงการ “Co-Create Knowledge-X Campaign” เพื่อกระตุ้นให้คนไทยใฝ่รู้และแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมเสนอนโยบายสาธารณะด้านการจัดการความรู้ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ 5. นวัตกรรมการเรียนรู้ที่ผสานเทคโนโลยี AI: ผลักดันให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Learning Community) และเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัล เช่น Knowledge Portal, OKMD-verse และ National Digital Archive และ 6. พัฒนาองค์กรให้มีผลกระทบเชิงสังคมสูง: ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่สร้างสรรค์และยืดหยุ่น ปรับโครงสร้างองค์กรให้รองรับยุทธศาสตร์ใหม่ ลดงานที่ซ้ำซ้อน และใช้ระบบ Shared Services

    ดร.ทวารัฐ เน้นย้ำว่า ยุทธศาสตร์และเป้าหมายดังกล่าวมุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย ครอบคลุมทุกกลุ่มคน โดยเน้นการจัดการความรู้ นวัตกรรมสมอง AI และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาประเทศไทยสู่สังคมฐานความรู้อย่างยั่งยืน โดยเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่าน OKMD ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สถาบันคลังสมองของชาติ (KNIT), สถาบันที่ปรึกษาด้านการจัดการความรู้และนวัตกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IKI-SEA) และบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TRIS) เพื่อพัฒนาความรู้และส่งเสริมกระบวนการจัดการความรู้ในองค์กรต่าง ๆ


    สำหรับความคืบหน้า การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ (OKMD National Knowledge Center : NKC) บนถนนราชดำเนินกลาง นั้น ดร.ทวารัฐ กล่าวว่า ขณะนี้อยุ่ระหว่างการสรรหาผู้มาดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งหากสรรหาได้ทันภายในเดือนมีนาคมนี้ ก็จะสามารถดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 3 ปี และจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย

    “ศูนย์การเรียนรู้ฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร รองรับผู้เข้าชมไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี และมีบริการการเรียนรู้ออนไลน์ไม่น้อยกว่า 100 ล้านครั้งต่อปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้สาธารณะที่ทันสมัยและครบวงจร โครงการนี้ยังมุ่งเน้นการฟื้นฟูพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ผ่านการจัดกิจกรรมและความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติของ OKMD กำลังเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ เพื่อเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของประชาชนไทยอย่างยั่งยืน” ดร.ทวารัฐ กล่าว