ในประเทศ

PMAC 2025 ร่วมขับเคลื่อน”นวัตกรรมสุขภาพระดับโลก”

PMAC 2025 ร่วมขับเคลื่อน”นวัตกรรมสุขภาพระดับโลก” ไทย-สิงคโปร์-ออสเตรเลีย ผนึกกำลังลด NCDs” พบทั่วโลกป่วย NCDs ทะลุ 74% สสส. สานพลังภาคีพัฒนา AI แอปพลิเคชัน Persona Health-สานสุข-Big Data ป้องกันโรค-วิเคราะห์ความเสี่ยง-สร้างเสริมสุขภาพ สิงคโปร์ ชู Healthier SG ขับเคลื่อนสุขภาพผ่านดิจิทัล VicHealth ออสเตรเลีย ดึงเครือข่ายชุมชน-โซเชียลมีเดีย เปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเชิงบวก

เครือข่ายกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ (International Network of Health Promotion: INHPF) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) และสสส. ร่วมกันจัด Side Meeting เรื่องแกะกล่องนวัตกรรมป้องกันโรคไม่ติดต่อ (NCDs Unboxing Innovations for NCDs Prevention) ในการประชุม Prince Mahidol Award Conference 2025 PMAC 2025 การประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2568 

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า 74% ของคนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ NCDs ไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากโรค NCDs ข้อมูลการสูญเสียปีสุขภาวะ Disability-Adjusted Life Years “DALY” ปี 2562 พบว่า 80% ของประชากรไทย คุณภาพชีวิตลดลงจากการเจ็บป่วย NCDs จำนวนประมาณ 400,000 คนต่อปี ที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ บริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย ใช้สารเสพติด ในยุคดิจิทัลหากต้องการลดอัตราการเกิดโรค NCDs จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกัน และการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก โดยเน้นการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ดีขึ้นในระยะยาว

“สสส. พัฒนาเครื่องมือดิจิทัล นวัตกรรมที่ตอบโจทย์การสร้างเสริมสุขภาพ เช่น แอปพลิเคชัน Persona Health ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านสุขภาพในอนาคต พร้อมให้คำแนะนำด้านสุขภาพเฉพาะบุคคล แอปพลิเคชัน สานสุข เน้นการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมภายในองค์กร เชื่อมต่อกับอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Devices) เพื่อให้องค์กรสามารถออกแบบกิจกรรมสุขภาพ เช่น การแข่งขันออกกำลังกาย กิจกรรมลดความเครียด และเสริมสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงาน นอกจากนี้ สสส. ให้ความสำคัญกับ “การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพโดยการใช้ข้อมูล (Data-driven) เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญในพื้นที่เฉพาะ” และร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และภาคส่วนต่างๆ มุ่งเน้น “Big Data” พัฒนาระบบการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพระดับจังหวัด และระดับประเทศ เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่ครอบคลุมสำหรับการกำหนดแนวทางส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคในอนาคต” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

ดร.ชุน ฮงเทย์ (Dr.Tay Choon Hong) CEO of Health Promotion Board (HPB) สิงคโปร์ และประธานเครือข่ายกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ (INHPF) กล่าวว่า สิงคโปร์มุ่งลดอัตราการเกิดโรค NCDs ผ่านเทคโนโลยี การแพทย์ปฐมภูมิ และการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเน้นการใช้ AI และ Big Data ผ่านโครงการ “Healthier SG” ที่มุ่งสร้างระบบป้องกันโรคเชิงรุกอย่างแม่นยำ ได้แก่ 1. แพทย์ประจำตัว ดูแลสุขภาพต่อเนื่อง 2. แผนสุขภาพส่วนบุคคล ปรับให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต 3. กิจกรรมชุมชน ส่งเสริมการออกกำลังกาย และโภชนาการที่ดี 4. HealthHub และ Healthy 365 แอปสุขภาพแห่งชาติ เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลหลัก เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชน ติดตามกิจกรรมสุขภาพ เช่น จำนวนก้าวเดิน ระยะเวลาการออกกำลังกาย และโภชนาการ พร้อมระบบให้รางวัลจูงใจ ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 800,000 ราย   

“อีกโครงการสำคัญคือการคาดการณ์ภาวะเปราะบางของผู้สูงอายุ (Pre-frailty Prediction) พัฒนาการป้องกันโรค โดยใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลจากอุปกรณ์สวมใส่ DigiCoach Programme ใช้เซนเซอร์ติดตามระดับน้ำตาลในเลือดแบบเรียลไทม์ พร้อมคำแนะนำด้านโภชนาการ ในส่วนของ INHPF ความร่วมมือระดับโลก เน้นแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดกับองค์กรสุขภาพทั่วโลก เช่น ไทย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และไต้หวัน เพื่อพัฒนานโยบายส่งเสริมสุขภาพระดับสากล” ดร.ชุน กล่าว

ดร.แคโรลีน วอลเลซ (Dr. Carolyn Wallace) ผู้จัดการฝ่ายวิจัยมูลนิธิส่งเสริมสุขภาพแห่งรัฐวิคตอเรีย (VicHealth) ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า รัฐวิคตอเรียใช้ “Community Connectors” ใช้เครือข่ายชุมชน และโซเชียลมีเดีย เพื่อเข้าถึงกลุ่มประชากรที่เข้าถึงยาก เพื่อให้ข้อมูลด้านสุขภาพกับประชาชน ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น Facebook Instagram TikTok และ WeChat สื่อสาร และกระตุ้นการมีส่วนร่วม ร่วมมือกับนักสร้างคอนเทนต์ และผู้นำทางความคิด (KOLs) โดยมีนวัตกรรมสำคัญ 1. This Girl Can ส่งเสริมให้ผู้หญิงออกกำลังกายโดยไม่ต้องกังวลเรื่องรูปร่าง มีผู้ติดตามกว่า 30,000 คน 2. Reality Check แคมเปญวิดีโอผ่าน TikTok และ Instagram กระตุ้นเยาวชนให้หันมาดูแลสุขภาพจิต โดยทั้ง 2 โครงการมีการประเมินผลจาก 1. การวัดและประเมินผลของการดำเนินงาน 2. การเข้าถึงประชากรทุกกลุ่ม โดยคำนึงถึงความหลากหลายของประชากรเป้าหมาย 3. การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย 4. ผลกระทบต่อพฤติกรรมสุขภาพของประชากร