สอวช. เปิดบ้านเผยวิสัยทัศน์ นำไทยสู่อนาคตด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืน
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดบ้านต้อนรับสื่อมวลชน เผยวิสัยทัศน์และแนวทางการดำเนินงานในอนาคต พร้อมนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ขององค์กรในรูปแบบ “Green & Smart Office” ที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน
สอวช. กับบทบาทชี้นำอนาคต

ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า สอวช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการกำหนดทิศทางล่วงหน้า วิเคราะห์แนวโน้มสำคัญของโลก ผ่านการใช้ฐานข้อมูลเชิงลึกและงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่ตอบโจทย์อนาคต หน้าที่ของ สอวช. คือการมองไปข้างหน้า วิเคราะห์ว่ากระแส ความท้าทาย หรือโอกาสอะไรที่กำลังจะเข้ามา และจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร โดย สอวช. มีศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค หรือ APEC Center for Technology Foresight ซึ่งดำเนินงานมากว่า 10 ปีแล้ว ด้วยแนวคิด “Foresight Planning” หรือการวางแผนเชิงอนาคต เช่น การใช้ AI Horizon Scanning วิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า

ตัวอย่างงานที่เราขับเคลื่อน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ สอวช. ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change: COP) ในฐานะนักเจรจาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีกรณีที่ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนตัวจากการไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG Net Zero) แต่เชื่อว่าประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในยุโรป จะยังคงตั้งเป้าหมายและจับมือกันในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่ออย่างเข้มแข็ง

สอวช. ยังได้มีการศึกษาและขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) คือการดูดก๊าซคาร์บอนไดออไซด์จากอากาศมาเก็บไว้ แล้วนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นเทรนด์สำคัญของโลกไปแล้ว รวมถึงเรื่องไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่เชื่อมโยงกับการลงทุนด้านไฮโดรเจน เช่น การใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) หรือเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Micro Modular Reactor: MMR) นอกจากนี้ สอวช. ยังมีการดำเนินงานเกี่ยวกับชีววิทยาสังเคราะห์ หรือ SynBio (Synthetic Biology) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นโยบายสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรม
ดร.สุรชัย ยังกล่าวถึงนโยบายของ สอวช. ที่ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น โครงการ Semiconductor และ AI เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง โครงการยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์พลังงานสะอาด เป็นต้น และส่วนที่เป็นนโยบายของรัฐบาล เช่น Soft Power สอวช. ก็มีทีมที่ทำเรื่องนี้โดยตรงเช่นกัน

ผู้อำนวยการ สอวช. ยังได้กล่าวถึง กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ได้รับงบประมาณปีละ 20,000 ล้านบาท เพื่อจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานให้ทุน 9 หน่วย โดยแบ่งเป็น 70% สำหรับการวิจัยที่ตอบโจทย์ประเทศ และ 30% เป็นการวิจัยพื้นฐานที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ โดยคำนึงว่า เราไม่เพียงทำงานวิจัย แต่ต้องทำให้เกิดผลลัพธ์จริง เช่น นโยบายผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise : IDE) โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวน IDE ในระบบเศรษฐกิจให้ได้ 1,000X1,000 คือผู้ประกอบการ 1,000 ราย สามารถขยายธุรกิจให้เกิดรายได้เฉลี่ย 1,000 ล้านบาท โดยขณะนี้คืบหน้าไปมาก และโครงการ University Holding Company ที่ช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนานวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ได้

ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดร.สุรชัย กล่าวว่า สอวช. ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ริเริ่มโครงการ “Higher Education Sandbox” ซึ่งเป็นการพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนากำลังคนโดยไม่ติดข้อจำกัดในการจัดการศึกษา ซึ่งได้อนุมัติหลักสูตรที่เน้นการพัฒนาทักษะให้ตรงกับตลาดแรงงาน เช่น วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่นักศึกษาสามารถเรียนและออกไปทำงานได้เลยโดยไม่ต้องรอให้จบ 4 ปี และยังสามารถเก็บหน่วยกิตไว้ในธนาคารหน่วยกิต ให้สามารถกลับมาเรียนต่อและรับใบปริญญาบัตรได้ นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังได้มีแนวคิดในการจัดทำ Skill Mapping วิเคราะห์ว่าตลาดแรงงานต้องการอะไร เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการจริง

“เราไม่ได้ขาดแคลนบัณฑิต แต่ปัญหาคือคุณภาพและความสอดคล้องกับตลาดแรงงาน เราจึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน ทำ Skill Transcript วิเคราะห์ว่าทักษะอะไรเป็นที่ต้องการ โดยขณะนี้มีมหาวิทยาลัยที่เริ่มดำเนินการแล้ว และกำลังจะขยายผลไปสู่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เตรียมเดินหน้าโครงการ Skills Future Thailand โดยอิงแนวทางจากสิงคโปร์ ที่ให้คูปองสนับสนุนแรงงานพัฒนาทักษะตามอาชีพเป้าหมาย” ดร.สุรชัย กล่าว

ร่วมพัฒนาประเทศด้วยความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ
ดร.สุรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในบทบาทหน้าที่ของ สอวช. ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานชี้ทิศทางนโยบายด้าน อววน. ของประเทศ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนแล้ว ในฐานะเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อยากให้สภานโยบาย เป็นสภานโยบายของทั้งประเทศ ไม่เฉพาะ กระทรวง อว. เท่านั้น แต่สามารถทำงานกับกระทรวงต่าง ๆ ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมได้ โดยมี กระทรวง อว. เข้าไปช่วยเสริม

นอกจากนี้ ดร.สุรชัย ยังได้พาสื่อมวลชนเยี่ยมชมสำนักงาน สอวช. ภายหลังมีการปรับปรุงพื้นที่แล้วเสร็จ ภายใต้แนวคิด Green & Smart Office ที่ออกแบบพื้นที่สำนักงานให้คุ้มค่า และให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อม โดย สอวช. เชื่อว่าคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดี จะช่วยให้เกิดผลลัพธ์งานที่ดี เพื่อให้เป็นหนึ่งในต้นน้ำของการผลิตนโยบายที่ตอบโจทย์ประเทศ และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่