EDUCA จับมือ TPF และ YIC จัดเสวนา Youth In Charge in ACTION! ส่งเสริมบทบาทเยาวชนร่วมกำหนดทิศทางอนาคตประเทศ
เพราะเยาวชนคือพลังอันแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศ ดังนั้น เสียงสะท้อนและมุมมองของเยาวชนต่อประเด็นต่างๆ ในสังคมจึงมีความหมายและไม่อาจะละเลย อีกทั้งเป็นเรื่องสำคัญที่ภาคส่วนต่างๆ ต้องเปิดรับและเปิดใจให้กับเยาวชนได้เข้ามามีบทบาทในการร่วมกำหนดทิศทางของประเทศไปด้วยกัน ซึ่ง EDUCA แพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาวิชาชีพครู โดยบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ (Thailand Principal Forum: TPF) และ Youth In Charge จัดเสวนา Youth In Charge in ACTION! “ครูใหญ่ไปต่อ ไม่รอแล้วนะ เพื่อจุดประกายโรงเรียนสนับสนุนเยาวชนในการขับเคลื่อนวาระของเยาวชนและของชาติในมิติต่างๆ
ดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า EDUCA ในฐานะแพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาวิชาชีพครู เล็งเห็นความสำคัญของพลังเยาวชนไทยในการเป็นผู้นำเพื่อขับเคลื่อนวาระสำคัญต่างๆ ทั้งของตนเอง และระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม พลังสร้างสรรค์เหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากโรงเรียน โดยเฉพาะแรงผลักดันจากผู้บริหารและครูที่เข้าใจ และพร้อมที่จะสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ของเยาวชน EDUCA จึงร่วมมือกับกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ (Thailand Principal Forum: TPF) Youth In Charge และเครือข่ายอื่นๆ จัดการเสวนานี้ขึ้น เพื่อสื่อสารและจุดประกายให้กับครูใหญ่ และครู ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว
นางสาวเอริกา เมษินทรีย์ ผู้ก่อตั้ง Youth In Charge ให้ข้อมูลว่า จากการเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้ร่วมนำเสนอและขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ทางสังคม Youth in Charge เตรียมจัด symposium ซึ่งจะเป็นเวทีเสวนาและนำเสนอนโยบายจากเยาวชนใน 2 วาระหลักคือ วาระของเยาวชน ทั้งด้านเพศและสุขภาวะ และการศึกษาและการเรียนรู้ รวมถึงวาระของชาติ ด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy)
“อยากชวนโรงเรียนร่วมส่งตัวแทนเยาวชนเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานใน 4 มิติข้างต้น โดยน้องๆ จะได้ระดมสมองเกี่ยวกับประเด็นที่ท้าทายกับเพื่อนต่างสถาบัน และได้เวิร์คชอปกับพี่เลี้ยงที่เป็นนักวิเคราะห์นโยบายและข้าราชการรุ่นใหม่จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะเกิดเป็นข้อเสนอและนโยบายที่สามารถจับต้องได้ และจะเป็น input ในแผนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 อีกด้วย”
สำหรับการจัด symposium ที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้รับความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละมิติ โดย อ.มีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน กล่าวว่าเพศและสุขภาวะเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรเข้าใจและรับรู้ แต่ปัจจุบันคนไทยขาดความเข้าใจเรื่องนี้อย่างมาก ทำให้เกิดผลกระทบด้านอื่นๆ ตามมา ทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบุคคลและสังคม เช่น ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่พร้อม การเกิดโรคติดต่อทางเพศ และขาดการวางแผนครอบครัว ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องเพศและสุขภาวะให้กับคนไทย โดยเฉพาะการปูรากฐานเรื่องนี้ให้กับเยาวชน เพื่อให้พวกเขาเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดการเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดซึ่งกันและกัน
รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ ประธานกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ (Thailand Principal Forum: TPF) และผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนา ให้มุมมองว่า ด้วยสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งต่อผลพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งพวกเขากล้าที่จะเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ รวมถึงมีความเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงควรปรับตัวให้ทันคนรุ่นใหม่ ด้วยความเชื่อที่ว่าเด็กๆ สามารถเป็นผู้นำและร่วมกำหนดอนาคตของประเทศได้ โดยต้องเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออก พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นโค้ชที่สนับสนุนอยู่ข้างหลัง อย่างการจัด symposium ในเร็วๆ นี้ หากเด็กได้เข้ามามีส่วนร่วมก็จะเป็นเหมือนการสร้างสะพานส่งต่อความคิดและกิจกรรมไปสู่การปฏิบัติในโรงเรียน ทำให้เด็กคนอื่นๆ ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม และรับรู้ถึงทิศทางของประเทศว่าจะมีแนวทางอย่างไร
ขณะที่ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และกรรมการบริหารและเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) แสดงความคิดเห็นว่า เยาวชนมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) โดยอาจเริ่มต้นจากภายในโรงเรียนด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างครูและนักเรียน อย่างการวางแผนเรื่องการใช้ประโยชน์และดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หรือมองถึงเรื่องการจัดทำหลักสูตรเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่ง TBCSD พร้อมที่จะสนับสนุนแนวคิดและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับโรงเรียน เพราะเล็งเห็นว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว และเด็กมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการสร้างความยั่งยืนในเรื่องนี้
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงประเด็นเรื่องเยาวชนต่อการขับเคลื่อนวาระของชาติด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจชีวภาพ และเศรษฐกิจ สีเขียว (BCG Economy) ว่า โรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเด็กให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ BCG Economy ซึ่งโรงเรียนและนักเรียนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการด้าน BCG Economy ต่างๆ ของ อว.ที่ทำในพื้นที่ เช่น โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล หรือ U2T
“BCG Economy เป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญ ซึ่ง อว. จะสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ BCG Economy ให้กับโรงเรียน เพื่อปลูกฝังและพัฒนาแนวคิดเรื่องนี้ให้กับนักเรียน รวมถึงพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงในการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อสร้าง ecosystem ของ BCG Economy ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน”
ทั้งหมดเป็นมุมมองของภาคส่วนต่างๆ ของสังคมที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ซึ่งพร้อมส่งเสริมพลังของเยาวชนให้ได้คิดและแสดงออกในการกำหนดอนาคตที่ตัวเองอยากเห็น เพื่อเป็นฟันเฟืองในการร่วมพัฒนาสังคมและประเทศอย่างแท้จริง