วงเสวนารุมสับกฎหมายลักไก่บอนไซภาคประชาสังคมชี้ออกกฎหมายล้าหลัง
เครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ….จัดเสวนาเรื่อง ภาคประชาสังคมคือหุ้นส่วนการพัฒนา ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นักวิชาการ ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม และแกนนำขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ฉบับประชาชน หลายท่าน ทั้งนี้ในช่วงท้ายที่ประชุมมีมติให้เร่งขอนัดประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเพื่อสะท้อนความกังวลและขอความชัดเจน พร้อมทั้งเดินหน้าจัดเวทีให้ข้อมูลต่อสาธารณชนเพื่อให้เห็นความสำคัญในเรื่องกฎหมายเข้าชื่อต่อไป
นางกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง เครือข่ายผู้บริโภค สมาคมผู้บริโภคสตูล กล่าวว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะทำงานพัฒนา สนับสนุนหน่วยงานรัฐในพื้นที่ กลุ่มประชาสังคมต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศควรจะได้ทำงานอย่างมีอิสระ จากประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิผู้บริโภคมา 20 กว่าปี พบว่าคนในพื้นที่มีการทำงานที่คล่องตัว ช่วยงานภาครัฐได้เป็นอย่างมาก ในตอนที่เรายื่นร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ฉบับประชาชน นั้น ก็ด้วยหวังว่าเพื่อสนับสนุนการทำงานเครือข่ายและกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่ทำงานในพื้นที่ ให้ทำงานได้อย่างยั่งยืนและเป็นอิสระ และคล่องตัว แต่เมื่อมีร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันฯ ออกมาประกบด้วยกลับกลายเป็นคนละเรื่อง ซึ่งคนละเจตนารมณ์กัน แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของภาครัฐและมีลักษณะของการควบคุมไม่ให้โต ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการทบทวนร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯเสียใหม่ จะเอามาประกบกับร่างพ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ไม่ได้ เราทำงานเพื่ออยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ทุกวันนี้มีการตรวจสอบการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนอยู่แล้ว
“ในฐานะคนทำงานด้านเครือข่ายผู้บริโภค นางกัลยทรรศน์ เห็นว่า ในระดับพื้นที่มีการทำงานประสานงานกันได้ดี ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนแบ่งเบาการทำงานของส่วนรวม ให้คนเรียนรู้ตระหนักถึงสิทธิของตน แต่ระดับนโยบายมีทัศนคติที่แย่มาก อาจจะเป็นเพราะอยู่ในหอคอยงาช้าง และกลัวว่าประชาชนจะมีพลังต่อรองที่เข้มแข็ง”นางกัลยทรรศน์ กล่าว
นายพีรพงศ์ จารุสาร ฝ่ายกฎหมาย สมาคมสภาคนพิการทุกประเทศแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่สงสัยและระแวงคือคำถามเกี่ยวกับ ร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรฯ ที่ไม่ทราบมาก่อนว่ามีร่างกฎหมายลักษณะนี้ จนกระทั่งมติ ครม. 23 กุมภาพันธ์ ออกมา เพราะสาระสำคัญที่ต้องมีการจดแจ้งองค์กรกับกระทรวงมหาดไทย มิเช่นนั้นมีโทษทางอาญา แสดงว่าเป็นเรื่องที่ล้าหลังมากๆ อันเป็นการเพิ่มภาระประชาชน ที่ต้องไปยื่นเรื่องเอกสารซ้ำซ้อน ในกรณีขององค์กรด้านคนพิการมีการจดทะเบียนองค์กรกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อยู่แล้ว
ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา นักวิชาการด้านสังคม กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการส่งเสริมส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) ทราบว่ากรรมการหลายคนรู้สึกผ่อนสั้นผ่อนยาวกับร่างพ.ร.บ.ภาคประชาสังคม อยู่พอสมควร โดยเปรียบเทียบกับกฎหมายที่มีมาในอดีต แต่แนวคิดในร่างกฎหมายองค์กรไม่แสวงหากำไรฯ แสดงว่าคนที่ร่างกฎหมายนี้มีทัศนคติบางอย่างที่ยึดถืออยู่ ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดของระบบราชการ ที่มีขนาดใหญ่และมีสายการบังคับบัญชา ทุกหน่วยของรัฐแย่งงบประมาณก้อนเดียวกัน
“เราไม่เชื่อว่าทัศนคติของคนจะอยู่กับคนนั้นตลอดชีวิต และทัศนคติจะเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีข้อมูลใหม่ ได้ศึกษา ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมแปลกใหม่ จะทำให้ทัศนคติของคนเปลี่ยน ผมหวังว่ารัฐเองก็อยากชนะใจประชาชน ภาคประชาสังคมก็มีดี ถ้าเราเปลี่ยนทัศนคติ รัฐก็จะมีภาระทำงานน้อยลงและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น” ผศ.ดร.จิตติ กล่าว
นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรพัฒนาเอกชนว่ามีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศนี้พอสมควร ทั้งยังได้สร้างปฏิบัติการไปสู่นโยบายหลายเรื่อง เช่น ป่าชุมชน การจัดการทรัพยากรชายทะเล การอนุรักษ์ช้าง เรื่องคนอยู่กับป่า เป็นต้น โดยองค์กรพัฒนาเอกชนมีบทบาทนำในการสะสมองค์ความรู้ มีนวัตกรรมจากการทำงานในเรื่องเล็ก ๆ แล้วพัฒนาขึ้นมา มองว่าหลักคิดของผู้ที่เสนอร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ คือการมองว่าเอ็นจีโอเป็นผู้ร้าย เป็นปัญหา มองจากความหวาดระแวงเป็นศัตรูบ่อนทำลาย ดังนั้นจึงต้องแก้ที่ความคิดให้เห็นว่าเอ็นจีโอก็เป็นกลุ่มประชาชนที่มีความสนใจในประเด็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างร่วมกัน หากมองได้เช่นนี้จะเห็นพลังของประชาชนที่จะลุกขึ้นมาเป็นประชาชนที่ตื่นรู้ รับผิดชอบกิจกรรมสาธารณะของประเทศ ต้องมองให้เห็นว่าเป็นเพื่อน ไม่ใช่มาตรวจสอบ เพราะการตรวจสอบมีกฎหมายต่าง ๆ กำหนดไว้อยู่แล้ว
ด้านนายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า อยากให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนต่อกฎหมายที่ออกมาจากรัฐบาลชุดนี้ เพราะรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงอยู่ได้ เพราะอำนาจนอกระบบและอำนาจเหนือระบอบ
“นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน หวั่นเกรงว่าเจตนาของการสอดไส้ร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯจะเป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งคนที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล ที่ต้องการตรวจสอบการทำงานในประเด็นสิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชน เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การสอดไส้ร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯออกมาในครั้งนี้เป็นการดำเนินการที่น่าละอายที่สุด และเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประเด็นสำคัญในโลกาภิวัตน์และการสื่อสารในสมัยนี้ ไม่ได้มีเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ แต่ยังมีความสัมพันธ์ในหลากหลายมิติ ระหว่างกลุ่มคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องเด็ก เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย ที่มีการติดต่อสนับสนุน ร่วมมือซึ่งกันและกัน หากปล่อยให้ร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯออกมาจะยิ่งทำให้เราต้องอยู่ภายใต้กะลาแลนด์ และเหมือนปิดประเทศ กฎหมายนี้ยังจงใจจำกัดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย” นายสมชายกล่าว