“เอชเอ็น เมดิคอล กรุ๊ป” แจ้งความดำเนินคดีนายหน้า ชี้แจงปมถูกกล่าวหา พบบิดเบือนข้อมูล-พิรุธอื้อ
จากกรณี นายหน้าชาวออสเตรเลีย แจ้งความดำเนินคดีกับ “เอชเอ็น เมดิคอล กรุ๊ป” เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 64 กล่าวหาเชิดเงินมัดจำ 23 ล้านบาทในการสั่งซื้อถุงมือทางการแพทย์ 24 ล้านกล่องนั้น ผู้บริหาร ‘เอชเอ็น เมดิคอล กรุ๊ป’ ชี้แจงทางผู้ซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา ยังชำระเงินมัดจำไม่ครบ และพยายามข้ามขั้นตอนการจัดซื้อตามสัญญาที่ตกลงเอาไว้ ทางบริษัทฯ แจ้งความดำเนินคดีกลับ เนื่องจากบิดเบือนความจริง ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง และภาพลักษณ์ มีผลกระทบต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก
นางสาววารินทิพย์ ทิวารี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอชเอ็น เมดิคอลกรุ๊ป จำกัด (HNMG) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ น.ส.จุฬาธร เซเกอร์ พร้อมด้วยนายหน้าชาวออสเตรเลีย ได้นำเอกสารหลักฐานการโอนเงินมัดจำค่าสินค้า มาแจ้งความกับ พ.ต.ต.ปราโมทย์ ศุขศรีไพศาล สว.สอบสวน กก.1 บก.ป. เพื่อให้ดำเนินคดีกับ บริษัท เอชเอ็น เมดิคอล กรุ๊ป จำกัด ในข้อหาฐานฉ้อโกงสัญญาซื้อขายถุงมือยาง 24 ล้านกล่องโดยโกงเงินมัดจำ 23 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป) มีรายละเอียดตามที่ปรากฎเป็นข่าว รวมถึงสื่อทางโซเชียลนั้น
บริษัทฯ ใคร่ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้ บริษัท เอชเอ็น เมดิคอล กรุ๊ป จำกัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการผลิตและจำหน่าย นำเข้าและส่งออก ถุงมืออนามัย ถุงมือทางการแพทย์ ถุงมือยาง และอื่นๆ โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการสร้างโรงงานซึ่งเป็นฐานการผลิตตั้งอยู่เลขที่ 99/9 หมู่ที่ 16 ต.หนองเหียง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ในระหว่างการติดตั้งเครื่องจักร และในระหว่างนี้ บริษัทฯ ยังคงดำเนินธุรกิจส่งออกถุงมือยางเป็นปกติ
ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ทำสัญญาซื้อขายถุงมือยางไนไตร กับผู้ซื้อ คือ บริษัท พาส โกลบอล เวนเจอร์ส จำกัด ฉบับลงวันที่ 23 ธันวาคม 2563 และสัญญาฉบับแก้ไขลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 (แก้ไขโดยผู้ซื้อ) ซึ่งในการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวนั้น ทางบริษัทฯ ได้เจรจาติดต่อซื้อขายโดยผ่านตัวแทนของผู้ซื้อ คือ นางแนนซี่ เม็นโดซ่า ดิมาโน เป็นผู้มีอำนาจในการเจรจาต่อรองเรื่องการทำสัญญาซื้อขายในนามของผู้ซื้อ ซึ่งการซื้อขายสินค้าถุงมือยางตามสัญญา ประกอบกับตารางการสั่งซื้อสินค้าจากตัวแทนคุณแนนซี่ สาระสำคัญคือผู้ซื้อจะต้องวางเงินมัดจำร้อยละ 50 ของสินค้าที่สั่งในแต่ละล็อต ซึ่งตามกรณีนี้ผู้ซื้อจะต้องวางมัดจำคิดเป็นจำนวน 3,325,000 USD แต่ในระหว่างรอให้ผู้ซื้อโอนเงินมัดจำอยู่นั้น ทางนางแนนซี่ ตัวแทนของผู้ซื้อก็ได้เจราจาเรื่องการโอนเงินมัดจำ กับทางบริษัทฯ อยู่หลายครั้ง จนในที่สุดทางผู้ซื้อก็ได้โอนเงินมัดจำมาให้จำนวน 785,000 USD. คิดเป็นเงินไทยหลังจากหักค่าธรรมเนียมต่างๆแล้วเป็นจำนวนเงิน 23,431,063.45 บาท และการโอนเงินได้ถูกโอนเข้ามายังบริษัทฯ จริงเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 และผู้ซื้อได้แจ้งว่าโอนเงินมาให้อีกยอดหนึ่งจำนวน 715,000 USD แต่การโอนเงินตามรายการนี้ “ไม่ปรากฏว่ามีเงินโอน” เข้ามายังบัญชีของบริษัทฯ แต่ประการใด
นางสาววารินทิพย์ กล่วต่อไปอีกว่า การกระทำนี้เหมือนผู้ซื้อเจตนาให้ทางบริษัทฯ เข้าใจว่าได้โอนเงินมัดจำมาให้อีกจำนวนหนึ่งแต่ความเป็นจริงโอนเงินมัดจำมาให้แค่ครั้งเดียวคือ จำนวนเงิน 23,431,063.45 บาท เท่านั้น ทั้งที่ความเป็นจริงตามสัญญาและตามคำสั่งซื้อนั้นจะต้องโอนเงินมัดจำมาให้ทั้งสิ้นเป็นเงินจำนวน 3,325,000 USD แล้วสัญญาจึงจะมีผลผูกพันต่อกันได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ทางนายปิเตอร์ สเวเคไนอัค ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนของผู้ซื้ออีกคนหนึ่งได้เดินทางเข้าในประเทศไทย แล้วได้โทรศัพท์ติดต่อมายังบริษัทฯ ว่าจะขอรับสินค้าตามที่ได้สั่งไว้ภายใน 7 วัน แต่ทางบริษัทฯ ได้แจ้งไปว่า เนื่องจากผู้ซื้อไม่ได้โอนเงินมัดจำมาให้ครบตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ สัญญาดังกล่าว จึงไม่สามารถมีผลให้จัดส่งสินค้าได้ แต่ทางคุณปิเตอร์ยืนยันว่าเมื่อโอนเงินมัดจำมาให้แล้วจำนวนหนึ่งก็จะขอให้บริษัทฯ ส่งของให้ตามที่ตนเองต้องการ ซึ่งทางบริษัทฯ ก็ยืนยันไปว่าเมื่อโอนเงินมัดจำมาไม่ครบตามข้อตกลงสัญญาก็ไม่เกิดขึ้น และจะไม่ส่งสินค้าตามที่คุณปิเตอร์ต้องการ ทำให้ทางคุณปิเตอร์ไม่พอใจและขอยกเลิกสัญญาซื้อขายดังกล่าว พร้อมขอคืนเงินมัดจำดังกล่าวเป็นเงินบาทไทยภายใน 3 วัน แต่ทางบริษัทฯ แจ้งว่าเงินมัดจำที่โอนมาเป็นเงิน USD ซึ่งบริษัทฯ จะพิจารณาคืนเงินมัดจำให้แต่ขอตรวจสอบความถูกต้องให้รอบคอบก่อนว่าจะต้องคืนเงินมัดจำดังกล่าวให้กับบุคคลใดกันแน่ เนื่องจากคู่สัญญาที่ทำไว้ คือ บริษัท พาส โกลบอล เวนเจอร์ส จำกัด (ผู้ซื้อ) แต่ผู้ที่โอนเงินมัดจำมาให้คือ Glover Court Pty.Ltd. ทางบริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องตรวจสอบและเช็คข้อมูลให้ถูกต้องรอบคอบเสียก่อน ตามที่ได้เคยมีหนังสือแจ้งยืนยันการพิจารณาคืนเงินไปแล้วครั้งหนึ่ง
และเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ทางนายปิเตอร์ สเวเคไนอัค และ น.ส.จุฬาธร เซเกอร์ ได้นำเอกสารหลักฐานการโอนเงินมัดจำ จำนวน 23,431,063.45 บาท เจตนาเข้าแจ้งความและจัดแถลงข่าวที่กองปราบปรามกล่าวหาว่าทางบริษัทฯ ผิดสัญญาโกงเงินมัดจำไปเป็นจำนวนเงิน 23 ล้านบาท ซึ่งบุคคลทั้งสองมิได้นำสัญญา และคำสั่งซื้อทั้งหมดมาแถลงว่าความเป็นจริงเงินมัดจำที่จะต้องจ่ายตามสัญญา และตามคำสั่งซื้อนั้นรวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ และเลี่ยงที่จะกล่าวถึงสาระสำคัญของสัญญา ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามที่ตกลงต่อบริษัทฯ โดยหยิบยกเฉพาะประเด็นว่าบริษัทฯ ฉ้อโกง ซึ่งเป็นการกล่าวหา และให้ข่าวไม่เป็นไปตามความเป็นจริงหรือข้อเท็จจริงทั้งหมด เป็นการทำลายภาพลักษณ์ทั้งในระดับสากลและชื่อเสียงของบริษัทฯ มีผลกระทบทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกเกลียดชัง และที่สำคัญ ทำให้ลูกค้าของบริษัทฯ ขาดความเชื่อมั่นในบริษัทฯ บริษัทฯ จึงขอสงวนสิทธิ์ในการคืนเงินมัดจำดังกล่าวจนกว่าการดำเนินคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นอันยุติและคดีถึงที่สุดเสียก่อน
นางสาววารินทิพย์ กล่าวอีกว่า บริษัทฯ ขอยืนยันว่าบริษัทจัดตั้งขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมายเพื่อประกอบธุรกิจการค้าอย่างสุจริต เป็นไปตามหลักการค้าขายทั่วไป ดังเห็นได้ว่าบริษัทฯ ได้รับใบรับรอง Certificate จากหน่วยงานต่างๆ เช่น SATRA bsi. FDA, FDA USA, ISO 9001: 2015, ISO 13485: 2016 และบริษัทฯ ได้สร้างโรงงานมีฐานการผลิต มีที่ตั้งอย่างชัดเจน และที่สำคัญบริษัทฯ ยังได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) จากสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เลขที่ 63-1273-1-21-1-0 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุนในการประกอบกิจการดังกล่าว จึงเป็นที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าบริษัทฯ มีตัวตนและประกอบธุรกิจการค้าโดยสุจริต และ บริษัทฯ ก็ยังทำการค้าโดยการนำเข้าและส่งออกสินค้าถุงมือยางมาโดยตลอดจนถึงบัดนี้
“ฉะนั้น การแถลงข่าวของบุคคลทั้งสองทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก บริษัทฯ จึงได้ไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับบุคคลทั้งสองในข้อหาหมิ่นประมาท โดยการโฆษณาไว้แล้วที่ สน.คันนายาว เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และบริษัทฯ จะดำเนินคดีฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป” นางสาววารินทิพย์ กล่าวสรุปในตอนท้าย