SSP ทุ่มงบ 500 ลบ. เทกฯโรงไฟฟ้าชีวมวล 9.9 MW
นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SSP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 มีมติอนุมัติเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกกะวัตต์ โดยการซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัท ยูนิ พาวเวอร์ เทค จำกัด (ยูพีที) จากผู้ถือหุ้นของยูพีที รวมถึงสิทธิในการรับชำระหนี้เงินกู้ในส่วนที่ยูพีทียังคงค้างชำระแก่ผู้ถือหุ้นของยูพีทีด้วย มูลค่าลงทุนรวม 500 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเข้าทำรายการเพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้นของยูพีที จำนวน 119,070 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 49% ภายในเดือน กรกฎาคม 2564 และคาดว่าจะเข้าทำรายการเพื่อให้ได้ ซึ่งหุ้นของยูพีทีจำนวน 123,930 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 51% ภายในเดือนพฤษภาคม 2565 รวมเป็นการเข้าซื้อหุ้นของยูพีทีทั้งสิ้นจำนวน 243,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 100%
สำหรับผู้ถือหุ้นของ “ยูนิ พาวเวอร์ เทค” ได้แก่ บริษัท แอ๊บโซลูท โปรดักส์ จำกัด บริษัท เวอร์ติคอล โฮลดิ้งส์ จำกัด นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล นายธนวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล นายปิยวัฒน์ ไกรพิสิทธิ์กุล และนางสาวธัณฐภรณ์ ไกรพิสิทธิ์กุล
ทั้งนี้ บริษัท ยูนิ พาวเวอร์ เทค จำกัด (ยูพีที) ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล โดยดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลัง 9.9 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ ณ ตำบลสี่คิ้ว อำเภอสี่คิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 มีระยะเวลาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นจำนวน 20 ปีนับแต่วัน COD
บริษัทฯ คาดว่าการลงทุนในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทฯและผู้ถือหุ้น เนื่องจากเป็นการลงทุนตามเป้าหมายของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนครบวงกจร ทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และชีวมวล โดยโครงการดังกล่าวมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับภาครัฐและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว มีผลประกอบการที่ดี ลดความเสี่ยงจากการพัฒนาโครงการไม่สำเร็จ และสามารถรับรู้รายได้ทันที อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าคงเหลือประมาณ 18 ปี ประกอบกับนโยบายภาครัฐให้การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอื่นอย่างเต็มที่
“มั่นใจว่าการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลในครั้งนี้จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ในเบื้องต้นได้มีการประเมิน IRR แล้ว คาดว่าจะสามารถให้ผลตอบแทนสูงถึง 10% และคาดจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 7 ปี ราคารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 4.50 บาท/หน่วย โดยขณะนี้เหลือระยะเวลาสัมปทานอีก 18 ปี และการลงทุนในครั้งนี้จะทำให้ SSP สามารถรับรู้รายได้และกำไรจากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้ามาทันที”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SSP กล่าวอีกว่า การเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลของ SSP ในครั้งนี้ เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทฯ ที่ต้องการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบครบวงจร อีกทั้งบริษัทฯ ยังคงมองหาการลงทุนในทุกรูปแบบที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าต่อไป และจากการลงทุนในครั้งนี้ มั่นใจว่าจะผลักดันกำลังการผลิตไฟฟ้าในปีนี้ทะลุ 200 เมกะวัตต์ได้ โดยในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ เตรียมที่จะ COD โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ และวินด์ฟาร์มในประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 143 เมกะวัตต์ และวางเป้าหมายในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า กำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 400 เมกะวัตต์ ผลักดันผลการดำเนินงานสร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง