วงเสวนา แฉปมคุกคามทางเพศในสถานศึกษา อึ้งมีทั้งครู รุ่นพี่ อนาจาร
เมื่อวันที่16 มิ.ย.ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ มูลนิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็กเยาวชน และครอบครัว สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “สถานศึกษากับปัญหาคุกคามทางเพศ”
น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า การคุกคามทางเพศมีทั้งทางตรง ทางอ้อม ผ่านการใช้สายตา ท่าทาง คำพูด ร่างกาย หรือ สื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ทำให้ผู้เป็นเป้าของการกระทำนั้นเดือดร้อน อึดอัด ไม่พอใจ เครียด หวาดระแวง หวาดกลัว และรู้สึกไม่ปลอดภัย โดยแบ่งเป็น 1.การคุกคามทางเพศออฟไลน์ ผู้ถูกกระทำมีอำนาจหรือการต่อรองน้อยกว่า 2.การคุกคามทางออนไลน์ ผู้กระทำจะค้นหาและเป็นฝ่ายสังเกตว่าผู้ถูกกระทำเป็นใครเพื่อหาช่องกระทำการคุกคาม ทั้งนี้ จากการทำงานช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาการคุกคามทางเพศ ของฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายฯ พบว่า ในปี 2562 มีข่าวการคุกคามทางเพศ 333 ข่าว น่าตกใจว่าเป็นข่าวเด็ก วัยรุ่นนักเรียนนักศึกษา กว่าร้อยละ 84.8 และจากการติดตามข่าวการคุกคามทางเพศในสถานศึกษาช่วงปี 2562-2564 พบว่า มี 12 กรณี แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษา 6 กรณี ผู้กระทำเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่า คือ ครู ส่วนผู้ถูกกระทำ ส่วนใหญ่เก็บเรื่องไว้ไม่กล้าบอกใคร จนครอบครัวเห็นจากโทรศัพท์โดยบังเอิญ ทำให้เด็กเกิดภาวะเครียด ป่วยโรคซึมเศร้า อยากฆ่าตัวตาย ส่วนการคุกคามทางเพศในระดับมหาวิทยาลัย 6 กรณี ผู้กระทำเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่า คือ อาจารย์ เพื่อนรุ่นพี่ เป็นต้น โดยเข้ามาในลักษณะความห่วงใย เป็นแฟนและพยายามข่มขืน ซึ่งผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ต้องการดำเนินคดีกับคู่กรณี
“มูลนิธิฯ มีข้อเสนอว่า 1.สถานศึกษาควรส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศให้แก่นักเรียน นักศึกษา 2.ควรมีช่องทางการร้องเรียนที่หลากหลาย โดยช่องทางแรกที่ควรทำ คือการเข้าถึงและพูดคุยให้คำแนะนำเบื้องต้น เช่น หากผู้ถูกกระทำต้องการแจ้งความดำเนินคดี จะถูกตั้งคำถามอย่างไรบ้าง หรืออธิบายถึงขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินคดี ใครบ้างที่ต้องถูกเรียกตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม กระบวนการพิสูจน์ พยาน หลักฐานเป็นอย่างไร เป็นต้น และ 3.กฎหมายที่คุ้มครองการคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์มีน้อยมากหรืออาจไม่เคยหยิบยกมาเป็นประเด็นพิจารณาเลย เรื่องนี้เป็นช่องว่างของกฎหมาย ทั้งนี้ มูลนิธิฯได้ร่วมมือกับมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัวและเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ในการให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษา เด็กเยาวชนผู้ถูกกระทำ โดยสามารถร้องเรียนมาได้ที่เพจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล” น.ส.อังคณา กล่าว
ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกคนทราบดีว่าการคุกคามทางเพศเป็นอาชญากรรม และปัญหาในมหาวิทยาลัยกลับถูกซุกอยู่ใต้พรมมานาน เพราะนักศึกษาชาย หญิงตีความต่างกัน โดยนักศึกษาชายตีความนิยามแบบแคบว่าต้องเป็นการข่มขืนถึงเรียกว่าเป็นการคุกคามทางเพศ แต่นักศึกษาหญิงจะตีความแบบกว้างโดยมองว่าการคุกคามทางเพศจะครอบคลุมทั้งเรื่องการใช้วาจา สายตา ภาษากาย ข่มขืน ในขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็ไม่มีกระบวนการให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้เพราะคิดว่าปัญหาไม่มีอยู่จริง อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าทั้งนักศึกษาชาย และหญิงต่างก็เป็นเหยื่อ เพราะมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่อันตราย ที่เป็นการเปลี่ยนผ่านในหลายๆ เรื่องของวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ ดังนั้นบางเรื่องอาจจะละเอียดอ่อนจนไม่ทันคิดว่านั่นคือปัญหาการคุกคามทางเพศ บวกกับการตีความที่ต่างกัน
“ดังนั้นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขคือมหาวิทยาลัยต้องเปิดอบรมนักศึกษาให้ เปลี่ยนทัศนคติเรื่องการคุกคามทางเพศที่ถูกต้องให้กับนักศึกษาทุกคน ว่าครอบคลุมทั้งกาย วาจา สายตา ให้รู้จักการเคารพสิทธิ เนื้อตัวผู้อื่น ควบคู่กับการเปิดพื้นที่รับเรื่องร้องเรียนที่สร้างความปลอดภัย เป็นมิตรกับทุกคน และเป็นธรรม เรื่องเหล่านี้ต้องดำเนินการแก้ไข เพราะมีการศึกษาทางการแพทย์พบว่าผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศนั้นจะเกิดผลกระทบทางจิตใจ นำไปสู่อาการทางจิตเวช และอาจจะนำมาสู่การทำร้ายตัวเองได้” ดร.ชเนตตี กล่าว
นางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า วิถีวัฒนธรรมไทยที่ถูกส่งต่อกันมาจากผู้ใหญ่สู่เด็กคือรากเหง้าของปัญหา บวกกับปัจจัยร่วมอื่นๆ โดยเฉพาะการถูกกระตุ้นจากสื่อที่เข้าถึงง่าย ทำให้สถานการณ์การคุกคามทางเพศรุนแรงและกว้างขึ้น ซึ่งการเอาเยาวชนที่ทำผิด1 คนมาลงโทษไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งระบบได้ หากไม่แก้ไขที่รากเหง้า ตนเข้าใจว่าการขุดรากเหง้านั้นทำยาก แต่ก็สามารถเปลี่ยนแนวทางเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จได้ โดย 1. สถานศึกษาทุกระดับต้องมีหลักสูตรให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้านมืด ด้านอัปลักษณ์ของการคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะการเรียนรู้เชิงกระบวนการ 2.สถานศึกษาทุกแห่งต้องมีพื้นที่รับเรื่องร้องเรียน โดยเฉพาะกรณีครูละเมิดต่อนักเรียน ทั้งนี้กลไกดังกล่าวต้องมาพร้อมกับโรงเรียนที่เป็นมิตร ปลอดภัย ปราศจากระบบอำนาจนิยม และ 3. ต้องมีการลงโทษนักเรียนที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ถูกต้อง เป็นการให้บทเรียน แทนการลงโทษแบบผลักไสไล่ส่งออกไปจากสังคม
ด้านตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศถูกแก้ไขไปได้ระดับหนึ่งจากคณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์รุ่นก่อน เมื่อตนเข้ามารับหน้าที่ได้ 2-3 เดือน รู้สึกว่าแนวโน้มการคุกคามทางเพศน้อยลง แต่ก็ยังมีอยู่ ดังนั้นสิ่งที่คณะกรรมการฯ ทำคือการแสดงจุดยืนผ่านแถลงการณ์ สอบถามความจริง ปกป้อง และเป็นที่พึ่งให้นักศึกษา ก่อนส่งเรื่องให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป หากการคุกคามทางเพศจากนิสิตต่างคณะ ก็จะส่งเรื่องไปให้กรรมการนิสิตคณะนั้นๆ เพื่อให้คณะกรรมการฯ ไปประสานกับผู้เกี่ยวข้องหรืออาจารย์ที่ดูแลภายในคณะฯ ดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่านักศึกษาส่วนหนึ่งอยากผูกมิตรแต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่แสดงออกนั้นทำให้คนอื่นอึดอัด รู้สึกถูกคุกคาม จึงอยากฝากทุกคนว่าเวลาจะพูดหรือจะแสดงออกอะไร ควรคิดให้เยอะว่าสิ่งนั้นจะไปกระทบจิตใจผู้อื่นหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่แค่การคุกคามทางเพศ แต่มีประเด็นละเอียดอ่อนอีกมาก การสร้างความสนุกสนานสามารถทำได้ในรูปแบบอื่น โดยไม่ต้องเอาประเด็นทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง