เปิดผลสำรวจ พบงานบวชเน้นบันเทิง ร่ำสุรา กว่า4ปี ทำเสียชีวิต30ศพ
สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ร่วมกับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาออนไลน์ “งานบุญ-บวชวิถีใหม่ ยึดพระธรรมวินัย ลดเสี่ยงโควิด -19”
นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานประพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า การบวชในระยะหลังมีค่านิยมเน้นการจัดเลี้ยง แต่ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด เพราะต้องร่วมกันรับผิดชอบสังคม ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 ดังนั้นมหาเถรสมาคมจึงมีมติว่าในช่วงนี้ กำหนดให้งานบวชมีมาตรการคุมเข้ม คือ 1. พระอุปัชฌาย์ ต้องกำหนดระยะห่างการนั่งจัดพิธีให้เหมาะสม 2. ผู้จะเข้าโบสถ์ คนร่วมงาน เอาเท่าจำนวนที่จำเป็น นั่งให้ได้ระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย วัดไข้ อย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นแนวทางการจัดงานบวชแบบเรียบง่าย ตรงตามพระธรรมวินัย ทำให้ผู้บวช และเจ้าภาพได้รับมงคลมาก
นายชัยณรงค์ คำแดง ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า คุณค่างานบวชคือการสืบทอดพระพุทธศาสนา และแสวงหาทางพ้นทุกข์ แต่ปัจจุบัน การบวชมีวัตถุประสงค์เปลี่ยนไป จากการสำรวจพบว่าเหตุผลที่คนบวชมากที่สุดคือทดแทนบุญคุณพ่อแม่ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการจัดงาน 1 ครั้ง เฉลี่ยหลักแสนบาท มากสุดที่พบคือหลักล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นค่าอาหาร โต๊ะจีน ค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดนตรีมหรสพ รถแห่ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้องก็พบปัญหาความรุนแรงตามมา โดยจากการเก็บข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ ตั้งแต่ปี 59-63 พบว่า มีความรุนแรงในงานบวช 50 งาน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 30 ราย และบาดเจ็บกว่า 80 ราย ดังนั้นจึงมีการนำร่องทำโครงการงานบวชสร้างสุข ส่งเสริมงานบวชที่เรียบง่าย งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้คนก้าวข้ามวัฒนธรรมการบวชที่เน้นปริมาณ มาสู่วัตถุประสงค์หลักของการบวชเพื่อสืบทอดศาสนา ศึกษาพระธรรมอย่างแท้จริง
นายวิทยา เขียวรอด นายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การบวชในพื้นที่ภาคใต้เป็นวัฒนาธรรม ต้องจัดยิ่งใหญ่เพื่อแสดงบารมี และฐานะทางสังคมของเจ้าภาพ มีมหรสพ แตรวง รถแห่ และทำตามๆ กันมา บางคนตั้งใจจะบวชเพื่อสืบทอดศาสนา แต่หลีกกระแสสังคมไม่ไหว ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจัดงานบวช จึงได้นำโครงการบวชสร้างสุขไปดำเนินการในพื้นที่โดยร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ชี้ให้เห็นถึงโทษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ปัญหาสังคม การทะเลาะวิวาท ที่สำคัญยังเป็นปัจจัยเสี่ยงในการแพร่โควิดด้วย เพราะทำให้สติลดลง การดูแลป้องกันตัวเองลดลง ทำให้เกิดการติดเชื้อภายในงานและนำไปติดคนที่บ้าน และชุมชน เป็นคลัสเตอร์งานบุญ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็มีประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และศบค. ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงมีการนำมาใช้บังคับได้มากขึ้น ทำให้ปัญหาลดลง
ด้านพระครูภัทรธรรมคุณ เจ้าคณะอำเภอพัฒนานิคม จ.ลพบุรี คณะทำงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุข กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุขในจ.ลพบุรี นั้นมีการวางเป็นนโยบายระดับอำเภอ ให้ทุกวัดให้ความรู้กับประชาชนที่มาติดต่อเพื่อจัดพิธีบวชที่วัดว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า บางคนบวชแบบข้าวหม้อ แกงหม้อ บางคนคิดถึงศักดิ์ศรีต้องจัดงานยิ่งใหญ่ รวมถึงการบวชปัจจุบันสังคมเปลี่ยน ค่านิยมเปลี่ยน บางคนบวชตามประเพณี ดวงตก อกหัก หลักลอย เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นไร เพราะบางคนเมื่อบวชเข้ามาแล้วก็สามารถเรียนรู้มีศรัทธาเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การจะทำให้โครงการงานบวชสร้างสุขสำเร็จได้จะต้องทำ 1.ค่อยเป็นค่อยไป 2. หาแนวร่วมในการขับเคลื่อน สร้างภาพ และการสื่อสาร แล้วคุณภาพจะเกิด 3.หาผู้มีส่วนร่วม เช่นนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 4. ทำให้เป็นประเพณี คนจะได้ไม่ฝืน และ 5. มีป้ายคอยเตือนงานบวชสร้างสุข อย่างน้อยก็เป็นเครื่องสะกิดใจคนมาร่วมงาน
นางทิพย์วรรณ ศรีพันธุ์ เจ้าภาพต้นแบบงานบวชสร้างสุข จ.ลพบุรี กล่าวว่า ตอนที่จะบวชลูกชาย พร้อมหลานชาย มีการปรึกษาเจ้าอาวาสซึ่งมีโครงการงานบวชสร้างสุขพอดี จึงเป็นโอกาสดีที่ได้จัดงานตามที่ตนเองต้องการ มีค่าใช้จ่ายบวช 2 คน เพียง 4 หมื่นบาท ทั้งนี้เห็นว่า ยังมีเจ้าภาพอีกมากที่มีความต้องการแบบนี้ เพียงไม่ทราบว่าทางวัดสามารถทำได้ จึงขอเสนอให้มีเมนูให้เจ้าภาพได้ทราบ เช่น เมนูบวชแบบไม่มีค่าใช้จ่าย บวชแบบมีค่าใช้จ่ายพอประมาณ นอกจากนั้น ยังต้องให้นายอำเภอมีนโยบายส่งเสริมงานบวชสร้างสุข ปลอดภัยปลอดเหล้า
ด้านอาจารย์ประดับ สุริยะ ผู้ประสานงานโครงการ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า อำเภอวังทองได้จัดเวทีรับฟังความเห็นในทุกตำบลว่าถ้าอำเภอวังทองจะจัดงานบวชสร้างสุข เห็นเป็นอย่างไร และทำการรับสมัครเจ้าภาพ ซึ่งมีเจ้าภาพตั้งใจร่วมโครงการ 6 รายในปีนี้ พบว่า ค่าใช้จ่ายลดลงกว่าครึ่ง และได้รับคำชื่นชม อีกทั้ง นายอำเภอ และเจ้าคณะอำเภอฝ่ายสงฆ์ให้การสนับสนุนเต็มที่ จึงเห็นว่าต้องทำงานนี้ต่อไป โดยสื่อมวลชนจะต้องเข้ามาช่วยสร้างกระแสค่านิยมความเรียบง่ายได้บุญกุศลนี้
ขณะที่ อาจารย์กาสัก เต๊ะขันหมาก นักวิชาการของโครงการ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการพูดคุย และประเมินผล พบว่า ผู้มาร่วมงานบวชสร้างสุข และเจ้าภาพจัดงาน ไม่มีผู้ใดรู้สึกเป็นด้านลบเลย มีแต่คนยกย่องอนุโมทนาสาธุ แต่ขอให้มีการทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งฝ่ายนโยบาย เจ้าคณะอำเภอ นายอำเภอ ฝ่ายวัด และ ฝ่ายชุมชนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้แน่นอน