สสส. ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 จัดทำ “คู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)” สำหรับผู้ป่วยสีเขียว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล รวมถึงจังหวัดที่ได้กำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เนื่องจากโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าติดเชื้อง่ายขึ้น เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจรุนแรงขึ้นทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยรอรับการรักษามีจำนวนมาก เกิดปัญหาการบริหารจัดการเตียง ระบบการรักษาพยาบาลมาถึงขีดจำกัด มาตรการการดูแลผู้ป่วยโดยวิธีแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) จึงเป็นทางเลือกสำคัญที่เข้ามาช่วยดึงผู้ติดเชื้อในระดับสีเขียวออกจากสถานพยาบาลแล้วไปรับผู้ป่วยอาการหนักได้มากขึ้น โดยยังสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน พร้อมกับการป้องกันการแพร่ระบาดในชุมชน
โดย สสส. ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายสลัมสี่ภาค และภาคีเครือข่ายต่างๆ พัฒนาแกนนำ สร้างต้นแบบชุมชน 33 ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และปทุมธานี ตามมาตรการดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้านและที่ชุมชน รวมถึงได้ขยายแนวทางดังกล่าวไปยังเครือข่ายร่วมสร้างสุขชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภาคีสุขภาพของ สสส. ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 600 แห่ง และเพื่อสนับสนุนมาตรการแยกกักตัวที่บ้าน สสส. ร่วมมือกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช. จัดทำ “คู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)” โดยรวบรวมข้อมูลจากทีมแพทย์และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเร่งสร้างความเข้าใจให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน เพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนในการรักษาตัวอยู่บ้าน โดยเชื่อมร้อยระบบประสานการติดตามโรคของหน่วยบริการปฐมภูมิอย่างใกล้ชิด
“การให้ความรู้กับสังคมในเรื่องการจัดการแยกกักตัวที่บ้านที่ถูกต้อง เพื่อคลายกังวลทั้งผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว และคนในชุมชน โดยเฉพาะการทำให้ผู้ติดเชื้อ หรือผู้ใกล้ชิดเข้าใจว่า การแยกกักตัวที่บ้านสามารถจะดูแลปลอดภัยใกล้เคียงอยู่โรงพยาบาล แต่อยู่ในบ้านหรือชุมชนที่คุ้นเคย รวมถึงการปฏิบัติตนเองให้ถูกวิธีจนปลอดภัยในช่วง 14 วัน ทั้งนี้ยังช่วยทำให้โรงพยาบาลมีเตียงว่างสำหรับผู้ป่วยสีแดง และสีเหลือง ที่มีอาการหนัก ขณะที่คนใกล้ชิด ครอบครัวและชุมชนของผู้ที่แยกกักตัวที่บ้าน ควรเข้าใจ เห็นใจ และสนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถผ่านวิกฤต และหายจากโรคโควิด-19 นี้ได้” ดร.สุปรีดา กล่าว
ทั้งนี้ ภายใน “คู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)” มีเนื้อหาที่สำคัญ สำหรับการดูแลตนเองหรือคนใกล้ชิดที่ป่วยโควิด-19 สามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้าน ตั้งแต่การพิจารณาให้แยกกักตัวที่บ้านเพื่อลดการติดเชื้อ ขั้นตอนการปฏิบัติตัวต่างๆ การประสานข้อมูลกับทางแพทย์ตามระบบบริการ เช็กความพร้อมของสิ่งของต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการกักตัว ข้อปฏิบัติที่ต้องเคร่งครัดในการกักตัว อาการแบบไหนที่ต้องรีบติดต่อแพทย์ การดูแลเด็กที่ติดเชื้อ ไปจนถึงการจัดการกับขยะติดเชื้อ สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือ การแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้ที่http://ssss.network/rnzwu