ในประเทศ

สสส. ร่วมมือเพจดัง เดินหน้าโครงการคุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน ปี 2

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท ทูลมอโร จำกัด จัดเสวนาออนไลน์ ‘ลูกหลานเรียนออนไลน์ จะสื่อสารอย่างไรให้เข้าใจ’ ภายใต้โครงการคุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน ปีที่ 2 เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ให้ครอบครัวรู้วิธีการสื่อสารเชิงบวกกับเด็กระหว่างเรียนออนไลน์ช่วงโควิด-19

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19  ทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์ตามแผนการสอนของโรงเรียน ซึ่งผู้ปกครองอาจต้องพบอุปสรรคโดยเฉพาะ ปัญหาเด็กขาดสมาธิและรู้สึกกดดันกับการเรียนผ่านจอ  จึงเป็นความท้าทายของผู้ปกครองที่ต้องมีทักษะสื่อสารและวิธีเลี้ยงลูกเชิงบวกให้เหมาะสมกับเด็กยุคนี้ สสส. จึงเดินหน้าโครงการคุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการเรียนรู้ออนไลน์เพื่อความสะดวกสำหรับผู้ปกครอง โดยจะมีพ่อแม่อาสา นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ กระบวนกร นักพัฒนาเด็กและครอบครัว ร่วมดำเนินงานเป็นผู้นำกลุ่มระหว่างเรียนด้วยจำนวน 60 คน

นางสาวณัฐยา กล่าวว่า จากการติดตามผลกระทบช่วงเรียนออนไลน์ของเด็กไทย พบสาเหตุเบื้องลึกที่ทำให้เครียดกันทั้งบ้าน คือ 1.เด็กถูกปล่อยให้เรียนออนไลน์เพียงลำพังซึ่งเป็นเรื่องยาก ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของช่วงวัย 2.เด็กและผู้ปกครองสื่อสารกันน้อยลงเพราะใช้เวลากับโลกออนไลน์มากขึ้น และ 3.ผู้ปกครองขาดทักษะสมัยใหม่ในการเลี้ยงดูเด็กโดยเฉพาะการเลี้ยงลูกเชิงบวกส่งผลให้การสื่อสารไม่ได้ผล  สาเหตุเหล่านี้ส่งผลให้บรรยากาศในบ้านตึงเครียด และไม่มีความสุข ส่งผลเสียต่อพัฒนาการทั้งร่างกาย จิตใจ และสมองของเด็ก โครงการคุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน มุ่งพัฒนาห้องเรียนออนไลน์ในรูปแบบ “กลุ่มพ่อแม่” เพื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้และฝึกทักษะการเลี้ยงลูกในยุคใหม่ภายใต้การสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มพ่อแม่อาสาที่ผ่านการเรียนด้วยตัวเองและพบว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น โดย สสส. มุ่งหวังให้ครอบครัวเป็นพื้นที่สุขภาวะสำหรับสมาชิกทุกวัยเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ในอนาคต

นายสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ทูลมอโร จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19ผู้ปกครองมีความเครียดและความกังวลต่อเรื่องรายได้ที่ลดลง ภาระหน้าที่ต่าง ๆ แถมต้องแบ่งเวลามาช่วยดูแลลูกเรื่องการเรียนมากขึ้น ภาวะที่ผู้ปกครองต้องแบกรับความเครียดและความกดดันที่มากขึ้น มีแนวโน้มทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าบุตรหลานมีพฤติกรรมที่ไม่ได้ดั่งที่ผู้ปกครองคาดหวัง โครงการคุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน ที่ทำร่วมกับ สสส. เป็นปีที่ 2 จึงนำเสนอการสอนทักษะการสื่อสารเชิงบวกในรูปแบบออนไลน์ ด้วยวิธีการเรียนรู้แบบ Online Support Group  ใช้เวลาเรียน 7 วัน เพื่อให้ผู้ปกครองมีวิธีจัดการอารมณ์ได้ดีเมื่อต้องเจอเหตุการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง และมีวิธีการสื่อสารในสิ่งที่ต้องการกับบุตรหลานตามหลักการสื่อสารเชิงบวกอย่างถูกต้อง เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพและลดความรุนแรงในครอบครัว จากการดำเนินงานที่ผ่านมาปัจจุบันมีผู้ร่วมเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์ กว่า 4,200 คน สำหรับผู้ปกครองที่สนใจเข้ากลุ่มเรียนรู้ก็สามารถเรียนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยหลักสูตรในปีที่ 2 เน้นการสื่อสารระหว่างเด็กกับผู้ปกครองเรื่องการเรียนออนไลน์ของเด็ก เพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้โดยที่ไม่มีพฤติกรรมเชิงลบต่อกัน หลักสูตรแบ่งช่วงอายุเด็ก 2 กลุ่ม คือ 1.เด็กประถม อายุ 7-12 ปี และ 2.เด็กวัยรุ่น อายุ 13-18 ปี ทั้ง 2 หลักสูตรจะช่วยเรื่องการดูแลเด็กที่ไม่มีสมาธิเรียนออนไลน์ รวมถึงการแก้ปัญหาเด็กติดจอที่แอบเล่นเกมระหว่างเรียนออนไลน์ โดยเปิดรับสมัครผู้ปกครองจำนวน 600 คน จากนั้นจะคัดเลือกผู้ปกครอง 100 คน ที่เข้าร่วมกิจกรรมทางแอปพลิเคชั่นไลน์แล้วนำทักษะที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติจนเกิดผลดีมาพัฒนาเป็นผู้ปกครองอาสา เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้ปกครองคนอื่นๆ เลี้ยงลูกเชิงบวกกันในวงกว้าง ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลหรือสอบถามได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก Toolmorrow และ www.คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน.com

พ.ญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กระทรวงสาธารณสุข ที่ปรึกษาหลักสูตรการเรียนรู้โครงการคุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน กล่าวว่า เด็กต้องเรียนออนไลน์เป็นเวลานาน ผู้ปกครองต้องมีความรู้พื้นฐาน 3 อย่าง คือ 1.จัดสถานที่ให้เด็กมีสมาธิในการเรียนรู้ 2.จัดตารางเรียนให้เด็กมีโอกาสผ่อนคลาย เช่น ออกกำลังกาย เล่นโซเชียลมีเดียได้ แต่ต้องไม่เกิน 2 ชั่วโมง/วัน 3.ดูแลการบ้านของเด็ก ถ้าเป็นเด็กเล็กหรือเด็กประถม ผู้ปกครองต้องใส่ใจมากกว่าเด็กมัธยมที่ส่วนใหญ่สามารถดูแลรับผิดเองได้  4.ทำใจยอมรับว่าการเรียนออนไลน์มีข้อจำกัดสำหรับเด็กบางคน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอาจไม่เหมือนกับอยู่ที่โรงเรียน และ 5.ผู้ปกครองต้องจัดตารางพ่อแม่ให้มีเวลาพักผ่อน หรือปล่อยวางจากสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดในการเลี้ยงเด็ก และที่สำคัญต้องใช้พฤติกรรมเชิงบวกกับลูก ซึ่งจะช่วยให้หลายครอบครัวผ่านปัญหาเรียนออนไลน์ได้ ที่สำคัญต้องสร้างวงจรพฤติกรรมเชิงบวกให้กับเด็ก โดยลดคำบ่น เพิ่มคำชม และไม่สื่อสารแบบประชดประชัน เพื่อทำให้เด็กสัมผัสถึงความรัก ความห่วงใย

น.ส.ภิญญา วิทยฐานกรณ์ ผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการคุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน กล่าวว่า ตนเข้าร่วมหลักสูตรนี้ เพราะต้องการนำองค์ความรู้มาพัฒนาตัวเองเพื่อปรับใช้ในการเลี้ยงดูลูกๆ และส่วนตัวสนใจเรื่องการสื่อสารเชิงบวกกับเด็กๆ เป็นพิเศษอยู่แล้ว หลังจากการเรียนก็ได้ผันตัวเองมาเป็น ‘พ่อแม่อาสา’ นำความรู้มาต่อยอด และส่งต่อให้กับพ่อ แม่ ผู้ปกครองหลายๆ คน ได้แก่ การจัดการอารมณ์ผู้ปกครองเพื่อเป็นพื้นฐานในการปรับพฤติกรรมเด็ก เทคนิกการใช้ I-Message เพื่อสื่อสารและรับฟังเด็กเชิงบวก และการให้คำชม เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกยินดีทุกครั้ง ซึ่งการใช้องค์ความรู้เหล่านี้ทำให้ลูกสามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างมีสมาธิ โดยไม่รู้สึกกดดันหรือถูกบังคับจากผู้ปกครอง เพราะมีตารางเวลาชีวิตที่ชัดเจน จึงอยากให้พ่อแม่ทุกคนมาเข้าร่วมโครงการคุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยนด้วยกัน เพราะความรู้และคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทุกคนสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้จริง